วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สนุกกับฉันท์ ๓ (อีทิสังฉันท์+สัททูลวิกกีฬิตฉันท์)

นศ. A บทแรกร้ก/ สมหวังในความรัก (อีทิสังฉันท์ + บุคคลวัต)
ที่มา http://www.watmoli.com/poetry-chapter5/old-verse/51362.html

๐ รักระเริงระยิบระย้าประชิด.........กะ ดาวกวีวิจิตรลิขิต
ประดับฟ้า
๐ ลมระทดระทวยระโหยเสาะหา......เจาะจงเจอะคู่คนึงวนา
เพราะรักไพร
๐ ปลาจะจีบปทุมกุสุมไสว..............แวะเวียนวิสุทธิ์สุมาลย์รมัย
สระสุดสุข
๐ หงสะหลงคุหาสุวรรณสุมุข......ถวิลเสาะถิ่นสงบสนุก
มิโศลกเศร้า

(By M. Rudrakul)

นศ.B บทปลงในความรัก/ ผิดหวังจากความรัก (สัททูลวิกกีฬิตฉันท์ + สมมุติภาวะ)



๐ ดาวขอเพียงนะภะเคียงจะคู่จิรสิริ์เรา
รุ่งขึ้นรวีเขา...................หายไป
๐ ลมอ้างรักระดิเดียวเฉลียวเฉพาะเจาะไพร
เดี๋ยวเดียวละลืมคำ..............ง่ายนัก
๐ ปลาบอกบัวบุษบาจะมั่นอะมะระรัก
แล้วแล้งสระศรีจัก..................จากตาย
๐ หงส์ว่ารักสุคุหาสุวัณณะมิสลาย
พรหมนั่งเหาะหงส์หาย...........พรากเอย

(By M. Rudrakul)

ถอดความ

นศ. A
ความรักที่รื่นเริงระยิบระยับประดับท้องฟ้าที่เหมือนจะหยาดย้อยเป็ยระย้า เพราะดวงดาวซึ่งเป็นกวีที่อยู่ใกล้ ชิดกันขีดเขียนประดับท้องฟ้าที่ตนรัก
สายลมเริ่มอ่อนหมดแรง (ระทดระทวย)เพราะอิดโรย (ระโหย) จากการเสาะหาและคิดถึงป่าอันเป็นที่รัก
ปลาคิดจะจีบดอกบัวอันบริสุทธิ์แวะเวียนอยู่ในสระน้ำอย่างมีความสุขที่สุด
หงส์คิดจะหาถิ่นสงบอยู่ ก็รักที่จะอยู่ในถ้ำทองที่มีปากถ้ำอันงามปราศจากความทุกข์

นศ. B
ดาวขอเพียงอยู่คู่ท้องฟ้าเท่านั้นยั่งยืนยาวนาน (จิร) แต่พออาทิตย์ขึ้นที่มุมของทิวภูเขาก็หายไปหมด
ลมอ้างว่ารักเดียวใจเดียวกับป่าเท่านั้น น่าสงสัย (เฉลียว) เพราะครู่เดียวก็ลืมคำจำไม่ได้ (เพราะลมไม่ได้พัดให้ต้นไม้ไหวตลอด ไปมาไวเหมือนคนเจ้าชู้)
ปลาบอกบัวว่าจะมั่นอมตะรักตลอด แต่พอน้ำแห้งทั้งสองก็ตายจากกัน
หงส์ว่ารักถ้ำทองไม่เสื่อมคายแต่พอพระพรหมเรียกก็ต้องจากถ้ำไปเป็นพาหนะให้พรหมขี่เเหาะหนีหายไป

แนวคิดการแต่ง

เพราะมีรักก็มีพราก ไม่จากเป็น ต้องทนทุกข์เพราะโหยหากันด้วยความรักที่โชคชะตาแกล้งให้อยู่ด้วยกันไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องจากตาย ต้องทนเหงาอยู่คนเดียวเมื่อคนที่เรารักเดียวใจเดียวตายจากอยู่ดี
(นอกจากพระนิพพานในโลกนี้ไม่มีอะไรยั่งยืนตลอดไป ทุกสิ่งเป็นสิ่งสมมุติ เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป)

ศัพท์

นศ.A
ดาวกวี = ดาวเป็นนักประพันธ์
วิจิตรลิขิต = เขียนสวยงาม
ปทุมกุสุม = บัว + กุสุม (ดอกไม้) ดอกบัว
ไสว = สว่าง, ชูสะพรั่ง (ในที่นี้หมายถึงดอกบัวที่ชูพ้นน้ำ)
รมัย = รมย์ แปลว่า งามน่ายินดี
สุมาลย์ = กุสุมาลย์ แปลว่า ดอกไม้
คุหา = คูหา แปลว่า ถ้ำ
สุวรรณ = ทอง
สุมุข = หน้างาม, ปากงาม (ในที่นี้หมายถึง ปากทางเข้าถ้ำทองที่งาม)
เสาะ = เสาะหา
หงสะ = หงส๋ นกน้ำชนิดหนึ่งตำนานว่าเป็นพาหนะของพระพรหม

นศ. B

นะภะ = นภา แปลว่าท้องฟ้า
จิรสิริ์ = จิร (ยาวนาน)+สิริ(มงคล, ศรี) มีมงคลยาวนาน
ระดิเดียว = ฤดีเดียว แปลว่า รักเดียวใจเดียว
รวี = รวิ แปลว่า พระอาทิตย์
อะมะระรัก = อมรรัก แปลว่า ความรักที่ไม่ตาย, อมตะรัก
สุวัณณะ = สุวรรณ แปลว่า ทอง
.......

หมายเหตุ:

บุคคลวัต หรือบุคลาธิษฐาน (Personification) คือการกำหนดให้สิ่งที่ไม่ใช่คนมีพฤติกรรมเหมือนมนุษย์ เช่น ฟ้าร้องไห้, ต้นไม้เริงระบำ , เมฆฝากความรักให้ภูเขา เป็น

สมมติภาวะ (Apostrophe) คล้ายกับบุคคลวัต แต่สิ่งที่ไม่ใช่คนนั้นมีบทบาท หรือสนทนาพูดโต้ตอบกันเอง หรือกับผู้อ่าน ผู้แต่งได้ ดังเช่น ตัวละครต่างที่เป็นสัตว์ ต้นไม้ สิ่งของ ที่พูดได้ในนิทาน

...........

การอ่านฉันท์

๑) อีทิสังฉันท์


๒) สัททูลวิกกีฬิตฉันท์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น