วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สนุกกับคำฉันท์ ๑ (มาณวกฉันท์+ปฏิทรรศน์)

(คุณทำได้)

ให้แต่งบทปฏิทรรศน์ paradox โดยให้สองบทแรกและสองบทหลังมีเนื้อความขัดแย้งกันเช่นดำ-ขาว ร้อน-เย็น สุข-ทุก รัก-ไม่รัก โดยให้เนื้อความทั้งสองกลมกลืนกันด้วย มาณวกฉันท์ เช่น

ตัวอย่าง
นศ. A:
๐ รักรดิดี........มีมุทิตา
มั่นมะนะนา ......ร่วมสิริสุข
จำจะระไกล....ไม่ทุรทุกข์
เจ้าถิระรุก....เรียมวรใจ ฯ

(By M. Rudrakul)

นศ. B
๐ รักรติตาย........ร้ายระยะไกล
แค้นคุรุใคร่...........ทุกข์ทุระทน
เช็ดชะละเนตร.....เหตุสละตน
เจ็บจิตะจน..........รักละเลาะเอย ฯ

(By M. Rudrakul)

ปล:
นศ. A:
ใจรักที่ดี มีความยินดีที่คนที่รักมีความสุข (มุทิตา) ด้วยใจที่มั่นคงในรักอยากจะอยู่ด้วยกัน แม้จำห่างกันแต่น้องก็ยัง (เข้ามาอยู่-รุก) มั่นในใจพี่
นศ. B:
ใจรักที่ตาย เพราะระยะทางที่ไกลซึ่งเลวร้าย (กับรัก) มีความแค้นจากความปรารถนาในกามซึ่งหนักด้วยความทุกข์ จึงเช็ดน้ำตาเพราะเหตุจากสละตน (ให้ความรัก) ซึ่งทำให้ต้องเจ็บจนต้องเคย ๆ ละ และเลาะเอาความรัก (ออกไปจากใจ)

ศัพท์สำคัญ
นศ. A:
มุทิตา = ความยินดีให้ผู้อื่นมีความสุข
มะนะนา = มน (ใจ)+นา (คำสร้อย)
รุก = รุกล้ำ ล่วงล้ำ บุก เข้าไปในที่ของผู้อื่น ในที่นี้หมายความว่า เข้ามาอยู่
ถิระ = มั่นคง
นศ. B:
ทุระทน = ทุร (ยาก/เลว)+ทน เป็น ทนได้ยาก
ชะละเนตร = ชลเนตร (น้ำตา)
รักละเลาะ = รัก+ละ(ละทิ้ง)+เลาะ(เอา{ด้าย}ออก) เป็น เอาความรักที่เป็นเหมือนด้ายแห่งโชคชะตาออกไปจากใจ

วิธีการแต่งและข้อควรระวัง: 

๑. ควรสร้างแผนภาพความคิด (Mind Map) ก่อนแต่ง

ฉันทลักษณ์มาณวกฉันท์ (มีสัมผัสระหว่างบทเหมือนกลอน ๔)




๒. ลหุ คือ คำเสียงสั้นที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นไม่มีตัวสะกดในภาษาไทย โดยสระเสียงสั้นในภาษาไทยคือ อะ อิ อุ โอะ เอะ แอะ เอาะ อาจจะมีบางคำแม้เป็นเสียงยาวแต่กวีโบราณเคยใช้ในตำแหล่งลหุ เช่น บ่ ,ก็ ฯ บ้าง แต่ปัจจุบันถ้าไม่สิ้นคิดจริง ๆ ไม่ควรใช้ ซึ่งนอกจากกฏนี้ ทุกคำคือคำ ครุ (เสียงยาวหมด)

สัญลักษณ์ ครุ ลหุ

๓. ในการแต่งคำประพันธ์ คำบางคำอาจจะสับกันได้ความหมายไม่เปลี่ยน เช่น รักดอกไม้ เป็น ดอกไม้ (ที่) รัก เพราะดอกไม้ไม่ใช่คน หรือชื่อคนดังนั้นผู้รักจึงต้องเป็นคน หรือ หัวใจของเรียม อาจจะสับได้ว่า เรียมหัวใจ เพราะบุคคลย่อมเป็นเจ้าของอวัยวะ และสิ่งของ 

แต่บางครั้งก็สับตำแหน่งไม่ได้เพราะจะทำให้ความหมายเปลี่ยน เช่น ทรัพย์เหมือนเพื่อน แสดงว่ามีทรัพย์ก็พอไม่ต้องมีเพื่อนก็ได้เพราะมีทรัพย์เป็นเพื่อนอยู่แล้ว

กับ เพื่อนเหมือนทรัพย์ แปลว่าเพื่อนมีค่าเหมือนทรัพย์สินสิ่งของของเรา เพื่อนสำคัญ ฯเป็นต้น ดังนั้นการใช้คำต้องคำนึงถึงความหมายแฝงให้ดี 

ส่วนคำที่เขียนคล้ายกันคือ อสุ (ชีพ) กับ อัสสุ (น้ำตา) คำว่า อัสสุ เป็นที่รู้จักทั่วไปกว่า และคำว่าชีวิตยังมีอีกหลายคำ น่าจะเลือกใช้คำที่ชัดเจนและเป็นที่รู้จักดีก่อนหาไม่ได้จริง ๆ จึงใช้ อสุ และต้องอธิบายศัพท์ไว้ให้ผู้อ่านรู้ด้วยว่าแปลว่า ชีพ 

เช่นเดียวกับคำว่า มาน ที่มีความหมายว่า มนะ คือ หัวใจ จิตใจ ความคิด ถ้าจะใช้เป็นครุพยางค์เดียว น่าจะคำว่า "มน" อ่าน /มน/ แปลว่า หัวใจ ไปเลยดีกว่า เพราะแม้ว่าคำว่า มาน จะมีรูปคำทางไวยากรณ์ แต่ มาน ยังเป็นคำว่า มานะ (ความพยายาม) ได้ 

การแต่งฉันท์ต้องคำนึงถึงความหมาย ให้ไพเราะ แล้ว ยังต้องแต่งให้คนอ่านเข้าใจได้ง่ายที่สุดด้วย เพราะคำฉันท์ใช้คำบาลีสันสกฤค ที่ต้องแปลงคำนั้นมีความยากยิ่งอยู่แล้ว สำหรับผู้อ่าน อย่าใช่คำที่มีความกำกวมอ่านแล้วตีความได้หลายอย่างโดยไม่จำเป็น

การอ่านมาณวกฉันท์ ๘



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น