วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

โคลง ๔ ตรีพิธพรรณ (วัชรสัตว์)

ภาพวัชรปาณีปางปกติและปางปราบมาร หรือปางดุร้าย ตามความเชื่อ อินเดีย ธิเบต จีน ญี่ปุ่น และเขมรโบราณ (ขอม)


ภาพแผนผังโคลงตรีพิธพรรณ
ที่มา http://www.watmoli.com/poetry-chapter4/supharp/4112.html


๐ วัชรสัตว์อ้าง.............อินทรา องค์ฤา
พิทักษา กุศล................ก่อสร้าง
โพธิสัตว์ธรรมา.............มากเลิศ บุญแล
ขวา, วชิระข้าง..............จ่อจ้องจำลักษณ์ ฯ|

๐เฉกศักรินทร์รุ่งฟ้า.......วัชระ ถือนา
ผจญอสูรสัตว์.................สุขให้
ตรีโพธิสัตวะ..................วอนรักษ์ โลกแล
วัชรปาณิไซร้.................หนึ่งอ้างนับถือ

(By M. Rudrakul)

หมายเหตุ:

๑. มีการใช้คำตายแทนรูปเอก
๒. แต่เดิมแรกสุดวัชรปาณี หรือวัชรโพธิสัตว์มหาสัตว์ หรือวัชรสัตว์ (วัชรสัตตวะ - ในภาษาสันสกฤตพุทธศาสนา) คือพระอินทร์ในศาสนาฮินดู แต่ต่อมาเมื่อพุทธศาสนารับเข้ามาใส่พุทธศาสนามหายานจึงได้กลายเป็นพระโพธิสัตว์ผู้เคียงข้างกับพระพุทธเจ้าศากยมุนี (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) ตนหนึ่ง และเป็นเจ้าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นราชาพวกเทวดา และคนธรรพ์ แต่ต่อมาเมื่อมีการยกว่าพระโพธิสัตว์อยู่สูงกว่าเทพฮินดูจึงมีการสร้างตำนานว่า วัชรปาณีเป็นผู้สังหารพระมเหศวรปางหนึ่งของพระศิวะ เช่นเดียวกับรูปปั้นพระมัญชุศรีกระทืบพระคเณศ และอาจจะด้วยอิทธิพลของศาสนาไชนะด้วยส่วนหนึ่งที่นับถือเรียกพวกเทวดาว่ายักษ์ สมัยต่อมาจึงว่า วัชรปาณีเป็นราชาพวกยักษ์ ก็ไม่แปลกเพราะท้าวกุเวรและยักษ์ทั้งหลายในตำนานอินเดียเป็นพวกของเทวดา ส่วนพวกอสูรเป็นพวกเดียวกับรากษส (ทศกัณฐ์เป็นราชาพวกรากษส Vampire หรือผีปอบแขก ไม่ใช่ยักษ์ในเรื่องรามายณะทุกสำนวนในอินเดีย) วัชรปาณีมักปรากฏเคียงคู่กับพระมัญชุศรี และปัทมปาณี (ปางหนึ่งของอวโลกิเตศวร) ซึ่งน่าจะมีนัยสำคัญกับพุทธศาสนามหายาน นิกายวัชรยาน (ที่มีความเชื่อเรื่อง "การตรัสรู้แจ้งได้ฉับพลันเร็วดุจสายฟ้าฟาด" และมีการผสานเทพฮินดูจำนวนมากมาเป็นโพธิสัตว์ในพุทธศาสนามหายาน พร้อมกับลัทธิตันตระ ยันตระ และมันตระ)
๓. คนที่แปล wiki มาก็จะแปลแต่ว่า วัชรปาณีเป็นยักษ์ตนหนึ่งเท่านั้นเนื่องจากไม่อ่านเนื้อความภาษาอังกฤษทั้งหมด
In early Buddhist legends, Vajrapāni is a minor deity who accompanied Gautama Buddha during his career as a wandering mendicant. In some texts he is said to be a manifestation of Shakra (ท้าว "ศักระ"), king of the Traayastrimsha (ตรายสตรึศะ ไทยใช้ "ไตรตึงษ์") heaven of Buddhist and Hindu cosmology and god of rain as depicted in the idols of the Gandharva. As Śakra, it is said that he was present during the birth of Tathagata. As Vajrapāni he was the god who helped Gautama escape from the palace at the time of his renunciation. When Sakyamuni returned from Kapilavastu (กบิลวัสตุ ไทยใช้ "กรุงกบิลพัสดุ์") he is stated to have assumed eight forms of devas who escorted him.

วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

สี่สิบสี่สุขสุดศรีมนุษย์



ภาพแผนผังกาพย์ยานี 11




๐ สี่สิบสี่ สุขสุด....... ..............ศรีมนุษย์ นี้สุขศรี
เปรมใจ เป็นไรมี ...................มิหน่ายพี่ น้องพร้อมใจ ฯ

๐ ร่วมบุญ เจ้าคุณพระ............ณ ตอนเช้า ชื่นสดใส
แล้วปรีย์ ประชุมชัย................สร้อยสายใจ จัดสายกัน ฯ

๐ เมื่อเย็น สวรรค์หล้า......... ...สวรรยา ยังสังสรรค์
เสพสนุก สุขนั้น.....................มิจาบัลย์ บางรักเอย ฯ|

( by M. Rudrakul /11/24/2018)




วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ผลงานโคลงกลบทอักษรล้วน มรภ.นครราชสีมา ๖๑



ผลงานโคลงกลบทอักษรล้วนของนักศึกษา มรภ. นครราชสีมา ๖๑






ข้อแนะนำ

ถ้าเนื้อความที่แต่งกับที่ถอดไม่ตรงกัน แม้ว่าจะแต่งได้ส่วนใหญ่ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ ยังไม่นับรวมกับความไพเราะ แต่มองได้สามมุมมองคือ 

๑. หนึ่งแต่งได้แต่ขี้เกียจเขียนอธิบาย 
๒. สองแต่งแบบกลอนพาไปไม่คุมเนื้อความ หรือคุมเนื้อความไม่ได้
๓. สามไปลอกเขามาหรือให้เพื่อนแต่งให้

ดังนั้นควรถอดความตามคำประพันธ์ร้อยกรองกับร้อยแก้วให้ตรงตามตัวอักษร และเพิ่มอธิบายศัพท์ด้วย งานนี้จึงให้เต็มไม่ได้นะ แก้ตัวกับงานชิ้นต่อไป ส่วนงานนี้ส่งแล้วส่งเลย ไปต้องเอากลับไไปแก้แล้ว

วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ผลงาน สักวาปริศนาคำผวน กลบทสะบัดสะบิ้ง + วรรณรูป ๖๑


ผลงานนักศึกษาปิดคอร์สเรียน ที่ มรภ. นครราชสีมา (นศ. ช่วยกันทำในชั่วโมงเรียน)

ภาพที่ ๑ : แผนภาพสัมผัสเพิ่มของกลบทสะบัดสะบิ้งในแต่ละวรรค
ที่มา http://oknation.nationtv.tv/blog/kondee007/2008/10/16/entry-1


กลุ่มนี้ดี นำบทกวีมาสร้างเป็นวรรณรูปได้ แต่ไม่มีอธิบายศัพท์ คำผวน-คำปกติ ✭✭✭✭

กลุ่มนี้ดี นำบทกวีมาวาดเป็นวรรณรูปได้ แต่ไม่มีอธิบายศัพท์ คำผวน - คำปกติ ✭✭✭✭

กลุ่มนี้ดี แต่ไม่มีอธิบายศัพท์ คำผวน - คำปกติ และเขียนบทกวีบางแห่งไม่ตรงเส้น ✭✭✭✭


กลุ่มนี้ดี มีการอธิบายศัพท์ แต่วรรณรูปเหมือนเขียนตามเส้นไม่ครบ เพราะวาดรูปมีพื้นที่เขียนมากกว่าบทกวี ✭✭✭✭


กลุ่มนี้ดี มีการใช้สีสวยงาม แต่ไม่มีอธิบายศัพท์ คำผวน-คำปกติ และวาดภาพมีพื้นที่เส้นเหลือมากไปกว่าจำนวนคำของบทกวีเป็นจำนวนมาก ✭✭✭✭


ส่งเสริมให้สนุกและมีใจรักกวีนิพนธ์เป็นหลัก ส่วนใครจะเป็นศิลปินเอกเป็นเรื่องของอนาคต (หัวข้อแบบนี้ลอกเน็ตฯไม่ได้แน่) ปล. คะแนนเต็ม = ✭✭✭✭✭

วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

โคลงกลอักษรจองถนน


วิธีอ่าน
ศศิธรจรแจ่มเรื้อง............ศศิธร
ผ่องแผ้วกลางอัมพร.......ผ่องแผ้ว
ดาษดาวประดับสลอน.....ดาวดาษ
ล้อมแวดจันทราแพร้ว.....แวดล้อมศศิธร

(โคลงกวีโบราณที่ถูกลืม)
.................
ที่มา http://folyoiratok.ofi.hu/mikkamakka/riksa-a-labbal-hajtott-taxi

แต่งโคลงกลอักษรจองถนนใหม่

ถนน...........ถมยกเยื้อง...............เที่ยวเท้า
..................ทางโทรมซน............
..................เร่งรีบรน...................
รถลาก........ซอยแซมเข้า............ร่มไม้

วิธีอ่าน

๐ ถนนถมยกเยื้อง..............ถนน
เที่ยวเท้าทางโทรมซน.....เที่ยวเท้า
รถลากเร่งรีบรน.................ลากรถ
ไม้ร่มซอยแซมเข้า.............ร่มไม้ถนน ฯ

(By M. Rudrakul)

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กลบทอักษรล้วน



กลบทอักษรล้วน 
๑. ส่วนใหญ่ใช้แต่งบทชมธรรมชาติ คำที่ใช้ มักเป็นคำโดด ทั้ง ไทย จีน เขมร มอญ แขก ฝรั่ง ฯ
๒. ในแต่ละวรรค หรือบาท (สำหรับโคลง) เล่นสัมผัสอักษรตัวเดี่ยวกันทั้งหมด
๓. รักษาสัมผัสบังคับตามฉันทลักษณ์ไว้ตามชนิดของบทร้อยกรอง
๔. เฉพาะคำประพันธ์ที่แต่งด้วยกลอนที่ไม่ใช่กลอน ๔ ไม่ควรลงท้ายด้วยคำตาย (คำที่สะกดด้วย แม่กก, กด, กบ) ที่พยางค์สุดท้ายของวรรครับ และส่ง โดยพยางค์สุดท้ายของวรรครับควรเป็นเสียงสูง ส่วนวรรคส่งต้องเป็นเสียงต่ำ (เฉพาะกลอนเท่านั้น) 
๕. โดยทั่วไปสัมผัสบังคับมักใช้ แม่ ก กา สระอี, ไอ, อา เพื่อให้แต่งต่อง่าย ๆ แต่ถ้าหาคำสัมผัสสระได้ก็ไม่จำเป็น
๖. กรณีภาษาไทยมาตรฐานหรือภาคกลางไม่มีคำใช้ ใช้ภาษาถิ่น คำยืมภาษาต่างประเทศได้ หรือคำแปลงได้บ้าง ถ้าเข้ากับเนื้อความ แต่ต้องอธิบายศัพท์ต่อท้ายไว้ ทุก ๆ ครั้ง


ภาพใบไม้สีทอง หรือ ย่านดาโอ๊ะ เป็นไม้เถาขนาดใหญ่ ใบอ่อนมีมีขนสีน้ำตาลแดง หรือขนสีทองแดง


ภาพต้นทองกวาว ,ก๋าว,ทองต้น , จอมทอง, จ้า หรือดอกจาน (พบทุกภาคในประเทศไทย)
................
๑) แต่งเป็นกลอนเก้า (กลอักษรล้วน)



๐ ลิงลมล้วน ลงลามเล่น เล็งไล่แล้ว........กลไก่แก้ว เกาะกิ่งกาญจน์ กู่เกี่ยวใกล้
ช้างชวนชอบ ชิดชลชง ชนชิงชัย..............เต่าตื่นไต่ ตกต่ำเต้า ตูดติดตม
๐ บุ้งบนบก แบ่งใบบอน บางบ่นบ้าง.........เสือสิงห์สาง สาบสุดไศล์ สื่อสบสม
ดูเดียร์ดาว เด่นดวงดอก ดังเด็ดดม.......... ไคลคลาคม ครู่ค้างคาวครวญค่ำเคย ฯ|~

(By M. Rudrakul)

๒) แปลงเป็นกาพย์ยานี (กลอักษรล้วน)



๐ ลิงลมลงไล่แล้ว.............กิ่งไก่แก้ว เกาะกู่ใกล้
ช้างชิดชลชิงชัย................เต่าตื่นตกตูดติดตม ฯ
๐ บุ้งแบ่งใบบอนบ้าง.........เสือสิงห์สางสาบไศล์สม
ดังเดียร์ดาวเด็ดดม.......... ไคลคลาค้างคาวค่ำครวญ ฯ|~

(By M. Rudrakul)

๓) แบ่งเป็นโคลงสี่สุภาพ (กลอักษรล้วน)



๐ ลิงลมลงไล่แล้ว..................ลงลา ลามเล่น
กุมกิ่งกาญจน์ไกลกา.............ไก่แก้ว 
ช้างชนใช่ชินชา.....................ชลชื่น ชิดชัย
ตราบเต่าตกติดแต้ว...............ตื่นใต้ตูดตม ฯ

๐ บางใบบอนแบ่งบุ้ง............บนแบว บกบอก
เสือสบสิงห์ไศล์แสว.............สาบไส้
ดูเดียร์ดั่งแดแดว..................ดมเด็ด ดาวใด
คราวค่ำคิดคลาไคล้.............คาบค้างคาวครวญ ฯ|~

(By M. Rudrakul)


ภาพลิงลม หรือนางอาย (เคลื่อนไหวช้าเวลากลางวัน แต่เป็นเลี้ยงลูกด้วยนมที่มีพิษที่ข้อศอก และน้ำลาย) 

ถอดความ : 

เห็นนางอายต่างลงมาจากต้นไม้ก็ค่อยมองไล่ 
ทั้งไก่ฟ้าพญาลอ ก็จับกิ่งไม้ทองร้องอยู่ใกล้
ตอนนั้นช้างก็ชนกันสู้อยู่ริมฝั่งน้ำ 
ทำให้เต่าที่ไต่ขึ้นมาตกใจตกลงไปจนตูดของมันปักลงไปในโคลนตม
ส่วนหนอนบุ้งที่อยู่บนบกก็กินใบบอนจนบางลงไปบ้าง 
เสือและสิงห์ร้ายในป่าก็ทิ้งกลิ่นสาบไว้ตามโขดหินที่มันไป
เพื่อดูกวางดาวที่มีลายดุจดวงดอกไม้ที่เด็ดดมได้
จำต้องดำเนินจากไปในครู่เดี๋ยวเดียวก็ค่ำเพราะได้ยินเสียงค้างคาวร้องดังเคย

ภาพไก่ฟ้าพญาลอ (ไก่สายพันธุ์จำพวกนกกระทาและไก่ฟ้า พบทางภาคเหนือ อีสาน ลาว กัมพูชา ฯ)



ภาพไก่ฟ้าหน้าเขียว (พบทางภาคใต้ มาเลเซีย บอร์เนีย และหมู่เกาะสุมาตรา)

ศัพท์
ลิงลม = นางอาย
ไก่แก้ว = ไก่ฟ้าพญาลอ เป็นพันธุ์ไก่ป่าชนิดหนึ่ง
สาง = กลิ่นศพ ในที่นี้หมายถึงกลิ่นซากสัตว์ที่ถูกเสือและสิงห์กินติดตามโขดหิน
ไศล์ (อ่าน ไส) = ไศล (สะ-ไหล) แปลว่า โขดหิน, ศิลา, หินขนาดใหญ่
กู่ = ในที่นี้ใช้ในความหมายว่า "เสียงร้องดังให้รู้ว่าอยู่ที่ไหน"
บุ้ง = หนอนบุ้ง
เดียร์= deer แปลว่า "กวาง"
คม = คมนาคม , ไป
............ศัพท์เพิ่มเติมสำหรับโคลง........
แสว = แส่วหนี, หนีไป
แดว = กระแด่ว , ดิ้นอยู่กับที่
แด = ดวงแด, ดวงใจ, หัวใจ
ดั่งแดแดว = หัวใจที่เหมือนดิ้นอยู่กับที่ , ใจเต้น ในที่นี้หมายถึงเสือ และสัตว์นักล่าเห็นกวางดาวแล้วใจเต้นอยากเข้าไปจับเอามากิน
แต้ว = แต้วแร้ว, นกชนิดหนึ่ง 
แบว= บ้องแบ็ว, มีหน้าตาพิลึก ในที่นี้หมายถึงใบไม้ที่ถูกหนอนกินจนดูเหมือนมีหน้าตาผิดไปจากเดิม
สาบไส้ = กลิ่นสาบเหม็นเข้าไส้, กลิ่นสาบเหม็นมาก
คลาไคล้ = คลาไคล, ดำเนินไป, ไป

ภาพหนอนบุ้ง หนอนแก้ว หรือร่าน (มีหลายสายพันธุ์เป็นหนอนผีเสื้อชนิดหนึ่งขนขึ้นตามตัวมีพิษ) 
..........
หมายเหตุ

กลอนเก้า

มีปรากฏในกลบทศิริวิบุลกิตติ สมัยอยุธยาตอนปลาย แต่สมัยต่อมาไม่ได้รับความนิยมแต่งมากเท่ากลอนแปด แต่กวีบางท่านเช่น ท่านพุทธทาสภิกขุ ก็แต่งกลอนเก้าเพื่ออธิบายหัวข้อหลักธรรมในพุทธศาสนาบาง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะคำบาลีสันสกฤตบางคำแยกออกจากกันไม่ได้ จึงทำให้คำประพันธ์บางบทเข้าลักษณะของกลอนเก้ามากกว่า

ความจริงตั้งแต่ กลอนแปดขึ้นไป ลักษณ์ฉันทลักษณ์ไม่ได้ต่างกันมากนัก จำนวนพยางค์ก็ลื่นไหลได้ตั้งแต่ แปดพยางค์ถึงสิบเอ็ด สิบสองพยางค์ ถ้าคำที่ใช้เป็นคำบาลีสันสกฤตที่ตัดทิ้งไม่ได้ โดยคำนึงถึงความไพเราะเป็นสำคัญ

ในบางครั้งจึงเห็นกลอนเก้าก็แต่งปน ๆ อยู่กับกลอนแปด หรือกลอนแปดที่มีพยางค์แต่ละวรรค เป็นเก้าบ้าง เจ็ดบาง สิบบ้าง ฯ เป็นปกติ (ขึ้นอยู่กับความไพเราะอีกนั้นแหละ)


ภาพนกแต้วแร้ว หรือแต้วแล้ว (สีสวยงาม ชอบทำรัง กระโดด เดินบนพื้นดินในป่า แต่บินได้ในระยะสั้น)
ที่มา http://tryanimal.blogspot.com/p/blog-page_73.html

สักวาปริศนาคำผวน (กลบทสะบัดสะบิ้ง)

ภาพที่ ๑ : แผนภาพสัมผัสเพิ่มของกลบทสะบัดสะบิ้งในแต่ละวรรค
ที่มา http://oknation.nationtv.tv/blog/kondee007/2008/10/16/entry-1

กลบท (ฉันทลักษณ์เพิ่มเติมในแต่ละวรรค)
๑. พยางค์ที่ ๕ ต้องสัมผัสสระกับพยางค์ที่ ๗
๒. พยางค์ที่ ๖ ต้องซ้ำกับพยางค์ที่ ๘
๓. พยางค์ที่ ๗ ต้องสัมผัสอักษรกับพยางค์ที่เก้า
๔. สัมผัสบังคับคงเดิมเหมือนกลอนเก้าทั่วไป

๕. แต่พยางค์ที่ ๙ ของวรรคสดับจะสัมผัสกับพยางค์ที่ ๖ ของวรรครับ และพยางค์ที่ ๙ ของวรรครอง จะสัมผัสกับพยางค์ที่ ๖ ของวรรคส่ง..ได้ยาก เพราะต้องคำนึงถึงกลบทเป็นสำคัญก่อน ดังนั้น ถ้าแต่งให้พยางค์ที่ ๙ ของวรรคสดับจะสัมผัสกับพยางค์ที่ ๓ ของวรรครับ และพยางค์ที่ ๙ ของวรรครอง จะสัมผัสกับพยางค์ที่ ๓ ของวรรคส่ง...ตามปกติ จะแต่งง่ายกว่า

ภาพแผนผังกลอนเก้า
ที่มา https://babyratnakavi.blogspot.com/2018/11/blog-post_41.html
....................แนวการแต่ง....................

๑) เปลี่ยนคำปกติ เป็นคำผวน (เหมาะกับการใช้เป็นสื่อนำเข้าสู่บนเรียนเรื่องคำประสมสำหรับนักเรียนที่มีความรู้เรื่องคำผวนแล้ว)

แม่ไก่ = ไม่แก่
แม่ทัพ = มับแท่
แม่น้ำ = มั้มแน่
แม่พระ = มะแพร่
แม่ยก = มกแย่
แม่แรง = แมงแร่
แม่เหล็ก = เม็กแหล่
แม่ย่านาง = มางย่าแน่

๒) นำคำผวนมาแต่งเป็นสักวาใบ้คำแต่ละวรรค

แม่ไก่ = ไม่แก่, สักวา "ไม่แก่" ขันนำขันขำ
แม่ทัพ = มับแท่, "มับแท่"นำไพร่พลไกรพลกล้า
แม่น้ำ = มั้มแน่, "มั้มแน่" นองชะรินระรินรา
แม่พระ = มะแพร่, ดีนักหนา "มะแพร่" จะแพร่ใจ
แม่ยก = มกแย่, มี "มกแย่" ยิเกลิเกลูก
แม่แรง = แมงแร่, "แมงแร่"ถูกค้ำรถช้ำรถใช้
แม่ย่านาง = มางย่าแน่, "มางย่าแน่"สิงยานมิ่งยานใหม่
แม่เหล็ก = เม็กแหล่, "เม็กแหล่"ไหนเข้าติดเอาติดเอย

๓) นำแต่ละวรรคมาเรียงตามฉันทลักษณ์กลอนสักว่า แก้สัมผัสบังคับให้สมบูรณ์

๐ สักวา "ไม่แก่" ขันนำขันขำ............"มับแท่"นำทั้งไพร่พลไกรพลกล้า
"มั้มแน่" นองชลชะรินระรินรา................ดีนักหนา เหมือน"มะแพร่" จะแพร่ใจ ฯ
๐ มี "มกแย่"ยั่ว ยิเกลิเกลูก...................."แมงแร่"ถูกถ้าค้ำรถช้ำรถใช้
"มางย่าแน่"นั่งสิงยานมิ่งยานใหม่......."เม็กแหล่"ไหนหาเข้าติดเอาติดเอย

By M. Rudrakul

หมายเหตุ
๑. กลบท แบ่งได้เป็นสองชนิดใหญ่ คือ

ภาพที่ ๒ : ตัวอย่างโคลงกลบทวัวพันหลัก
ที่มา กำชัย ทองหล่อ. (๒๕๕๔). หลักภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๕. กรุงเทพ: รวมสาส์น. หน้า ๔๗๒.

๑.๑ กลบท  คือการกำหนดสัมผัสบังคับเพิ่มเติมจากฉันทลักษณ์ที่มีอยู่เดิมให้สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ถ้ากลบทที่แต่งเป็นกลอนเรียกว่า กลอนกลบท ถ้ากลบทที่แต่งเป็นโคลงเรียกว่าโคลงกลบท
.........

๑.๒ กลอักษร  คือกลบทชนิดต่าง ๆ ที่มีการนำคำมาจัดเรียงเป็นรูปภาพ บางท่านเรียกว่าซ่อนรูปอักษร ในสารานุกรม wiki เรียกว่า กลแบบ (แต่ยังหาที่มาที่ไปไม่ได้ และที่มีที่มาส่วนใหญ่ลอก Wiki มาทั้งนั้น) ในที่นี้ยึดตามหลักภาษาไทยของอาจารย์กำชัย ทองหล่อ

๑.๒.๑ กลอักษรภาพ  คือการน้ำบทร้อยกรองมาเรียงเป็นรูปภาพปริศนาแล้วให้ผู้อ่าน จัดเรียงเป็นบทร้อยกรองตามฉันทลักษณ์ คล้าย Typography หรือ "วรรณรูป" ของฝรั่ง แต่วรรณรูปของฝรั่งส่วนใหญ่ไม่เป็นบทร้อยกรองและกลบท ดีสุดส่วนใหญ่ก็เป็นแค่กลอนเปล่า


ภาพที่ ๓ : วรรณรูป Typography ของไทย
ที่มา https://i.pinimg.com/originals/17/e2/4b/17e24b1edddf0fbbee1d680238655f15.jpg


ภาพที่ ๔ : วรรณรูปของอิสลาม Islamic Typography
ที่มา https://www.kisscc0.com/clipart/islamic-design-arabic-calligraphy-islamic-art-alla-eslxeq/

๑.๒.๒ กลบทอักษรภาพ หรือกลบทอักษร คือ บทร้อยกรองที่เป็นกลบทต่างถูกน้ำไปเรียงเป็นภาพแล้วให้ผู้ทายจัดเรียงเป็นบทร้อยกรองตามฉันทลักษณ์เอง

ภาพที่ ๕ : ตัวอย่างโคลงกลบทอักษรจองถนน
ที่มา กำชัย ทองหล่อ. (๒๕๕๔). หลักภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๕. กรุงเทพ: รวมสาส์น. หน้า ๔๗๘.

๒. ในสารานุกรมออนไลน์ Wiki เรียกกลบทว่า "กลอักษร" และเรียกกลอักษรว่า "กลแบบ" ซึ่งอาจจะเป็นการพยายามสร้างทฤษฏีใหม่ล้มล้างตำราของ อาจารย์กำชัย ทองหล่อในยุคหลัง ๆ แต่อย่างไรก็ตามทำให้เกิดการสับสนเรียก กลบทและกลอักษรสับไปสับมาทั่วไป และคำว่า "กลแบบ" ยังไม่พบว่าราชบัณฑิต ฯ บัญญัติใช่ในขณะนี้...ตามดูกันต่อไป

๓. ส่วนอาจารย์กำชัย ทองหล่อ (๒๕๕๔ : ๔๘๖)  สรุปว่า "กลบท คือคำประพันธ์ ที่เพื่อสัมผัสบังคับ และคำซ้ำให้กับบทร้องกรองทั่วไป ซึ่งกลอักษรก็คือกลบทที่เล่นคำซ้ำมากกว่น กลบทโดยปกติทำให้เหลือทำที่เป็นคำทั่วไปที่ไม่ใช่คำซ้ำเพียง ๔ - ๖ พยางค์ในแต่ละวรรค"

โดยน่าสังเกตว่า พอเหลือคำที่ไม่ใช่คำซ้ำน้อย ๆ แล้วสามารถนำมาวาดเป็นเลขยันต์หรือรูปภาพได้

๔. นำปริศนาคำทายไปถามเพื่อน ถ้าเพื่อนตอบได้ผู้แต่งจึงจะได้คะแนน หนึ่งคำทายต่อ ๑ คะแนน

เพราะสมัยโบราณคนแต่งปริศนาแก้ได้ยากเก่ง แต่ในการสร้างสื่อสำหรับสอนเด็กแต่งแล้วเด็กอ่านและทายได้ ดังนั้นคำทายจะต้องไม่ยากไม่ง่ายเกินไปถึงจะดี เหมาะแก่การใช้เป็นสื่อสำหรับนำเข้าสู่บทเรียน หรือเสริมบทเรียนให้น่าสนใจยิ่งขึ้น เพราะถ้ายากเกินไปจะทำให้เสียเวลาเรียน หรือการทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ในส่วนอื่น ๆ

วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

สักวาปริศนาคำผวน

ที่มา https://suzannewoodsfisher.com/fun/friday-fun-spoonerisms/

๑) กลอนปริศนาคำทายที่คำตอบลงท้าย "สระไอ" เหมือนกัน (ใช้สอนเรื่อง ไอ การันต์ และสัมผัสสระได้)

กะได = ไกดะ  , สักวา"ไกดะ" เดาไตภาษา
ตะไล = ไตละ  "ไตละ"ลาลี้เล่นพลุพลุ่งหัว
สมัย = ไสมะ   "ไสมะ"มายุคยืนยานนานนัว
อะไร = ไอระ  "ไอระ" รัวเร่งเร้าถามความใด
กำไร = ไกรำ  , มี "ไกรำ" หรือไม่เมื่อขายขำ
ทำไม = ไทมำ , ทุกข์ " ไทมำ" เมื่อรู้ดูสดใส
ลำไย = ไลยำ, สวน "ไลยำ" เยี่ยมยลหยิบผลไว
อำไพ = ไอพำ, ส่องแสง "ไอพำ" พึงครุ่นคิดเอย

๐สักวา "ไกดะ" เดาไตภาษา............"ไตละ"ลาลี้เล่นพลุพลุ่งหัว
"ไสมะ"มายุคยืนยานนานนัว..............."ไอระ" รัวเร่งเร้าถามความใด ฯ
๐ มี "ไกรำ" หรือไม่เมื่อขายขำ............ทุกข์ " ไทมำ" เมื่อรู้ดูสดใส
สวน "ไลยำ" เยี่ยมยลหยิบผลไว.........ส่องแสง "ไอพำ" พึงครุ่นคิดเอย ฯ|~

By M. Rudrakul
.........
๒) ปริศนาคำผวนแบบคำตอบ สัมผัสสระโยงกันเป็นลูกโซ่ (ใช้สอนสัมผัสสระได้)

สะใภ้ = ไสภะ, สักวา ลูก "ไสภะ" ใช่เขย
ไหมพรม = ห่มไพร, "ห่มไพร"เคยคุ้มอุ่มฟูนุ่ม
ยมราช = ญาติร่ม, "ญาติร่ม"นรกหรือถนนสื่อสุ่ม
วาสนา = หว้าสะนาฏ, "หว้าสะนาฏ" นั้นโชคชุ่มชมกัน
น่ารัก = นักล่า, แต่ "นักล่า" เล่นเล่ห์เสน่หา
จักพราก = จากพัก, "จากพัก" พาเพื่อนนกน้ำในสวรรค์
รากไม้ = ไร้มาก, หาก "ไร้มาก" หมายเหง้าไพรพรรณ
ไตรรัตน์ = ตรัสไล่, "ตรัสไล่" ลั่นโลกลัวนพึ่งแล้วเอย

๐ สักวาลูก "ไสภะ" ใช่เขย............ "ห่มไพร"เคยคุ้มอุ่มฟูนุ่ม
"ญาติร่ม"นรกหรือถนนสื่อสุ่ม........"หว้าสะนาฏ" โชคชุ่มชมกัน ฯ
๐ แต่ "นักล่า" เล่นเล่ห์เสน่หา......."จากพัก" พาเพื่อนนกน้ำในสวรรค์
"ไร้มาก" หมายเหง้าไพรพรรณ......."ตรัสไล่" ลั่นโลกลัวนพึ่งแล้วเอย ฯ|~

By M. Rudrakul
........
๓) แบบคำตอบมีคำหน้าเป็นคำเดียวกัน หรือเสียงเดียวกัน (ใช้สอนคำพ้องเสียงได้)

จันทรเพ็ญ = เจ็ญพันธุ์, สักวา "เจ็ญพันธุ์" พูลสวรรค์
จันทร์กะลา = จากะลัน, "จากะลัน"เล็งเสี้ยวสล้างฟ้า
จันทบุรี = จันท์บุรี = จีบุหลัน, "จีบุหลัน"เลิศเมืองมณีมีค่า
จัณฑาล = จานทัน , "จานทัน"ท้า ทำลายชนชั้นใด
จัญไร = ไจรัน, ด่า "ไจรัน" รันทดสลดแล้ว
จันทรกานต์ = จานทะกัน, "จานทะกัน"แท้แก้วแพรวสดใส
จันทรเศขร = จอนทะเสขัน, ปาง "จอนทะเสขัน" ขานศิวะใหญ่
จัณฑี = จีทัน, ไท้เทวี "จีทัน"ดุ อุมาเอย

๐ สักวา "เจ็ญพันธุ์" พูลสวรรค์..........."จากะลัน"เล็งเสี้ยวสล้างฟ้า
"จีบุหลัน"เลิศเมืองมณีมีค่า................."จานทัน"  ท้า ทำลายชนชั้นใด ฯ
๐ ด่า "ไจรัน" รันทดสลดแล้ว.............."จานทะกัน"แท้แก้ว แพรวสดใส
ปาง "จอนทะเสขัน" ขานศิวะใหญ่.......ไท้เทวี "จีทัน"ดุ อุมาเอย ฯ|~

By M. Rudrakul

............

๔) ปริศนาคำทายคำผวนที่มีคำตอบพยางค์หลังซ้ำกัน (ใช้สอนเรื่องคำประสมได้)

๔.๑ แปลงคำปกติเป็นคำผวน

หลังบ้าน = หลานบัง
หน้าบ้าน = หนานบ้า
หมู่บ้าน = หมานบู่
ผู้ใหญ่บ้าน = ผ้านใยบู้
ลูกบ้าน = ล้านบูก
เจ้าบ้าน = จ้านเบ้า
พ่อบ้าน = พ้านบ่อ
แม่บ้าน = ม้านแบ่

๔.๒ เอาคำผวนมาแต่งเป็นบทร้อยกรอง (กลอนสักวา)

หลังบ้าน = หลานบัง, สักวา "หลานบัง" บอกเรือนท้าย
หน้าบ้าน = หนานบ้า, "หนานบ้า"ปลายเบื้องต้นประตูใหญ่
หมู่บ้าน = หมานบู่, "หมานบู่" อยู่สุขทุกเคหะไป
ผู้ใหญ่บ้าน = ผ้านใยบู้, เพราะ "ผ้านใยบู้"ตูนี้ท่านดีจริง 
ลูกบ้าน = ล้านบูก, อีก "ล้านบูก" เบิกบาน บ่ ทำชั่ว
เจ้าบ้าน = จ้านเบ้า, "จ้านเบ้า"ขรัว ขุมคุณนึก ระลึกยิ่ง
พ่อบ้าน = พ้านบ่อ, พิศ "พ้านบ่อ"บ่าวหัวหน้าทำหน้าตึง
แม่บ้าน = ม้านแบ่, สั่งให้ซึ้งสาว "ม้านแบ่" บ่นเบื่อเอย

๔.๓ เรียงคำผวนตามฉันทลักษณ์กลอนสักวา และแต่งสัมผัสบังคับให้ถูกต้อง

๐ สักวา "หลานบัง" บอกเรือนท้าย......."หนานบ้า"ปลายเบื้องต้นประตูใหญ่
"หมานบู่" อยู่สุขทุกเคหะไป................เพราะ "ผ้านใยบู้"ตูนี้ท่านดีจริง ฯ
๐ อีก "ล้านบูก" เบิกบาน บ่ ทำชั่ว........"จ้านเบ้า"ขรัว ขุมคุณนึก ระลึกยิ่ง
พิศ "พ้านบ่อ"บ่าวหัวหน้าทำหน้าตึง.....สั่งให้ซึ้งสาว "ม้านแบ่" บ่นเบื่อเอย ฯ| ~

By M. Rudrakul

หมายเหตุ :

๑. เพื่อใช้เป็นสื่อการสอนเรื่องคำผสม คำซ้อน คำซ้ำสำหรับเยาวชน ไม่ควรใช้คำผวนที่เป็นคำหยาบ ทั้งคำที่เป็นคำหยาบนำมาผวน หรือคำสุภาพที่ผวนแล้วกลายเป็นคำหยาบ

๒. ให้ใช้คำสุภาพผวนแล้วกลายเป็นคำที่ไม่มีความหมายได้

๓. คำที่ไม่ควรนำมาผวน
๓.๑) คำที่มีสระและตัวสะกดมาตราเดียวกันไม่ควรนำมาผวน เช่น งานบ้าน (ง้านบาน?) การบ้าน (ก้ารบาน?) เป็นต้น
๓.๒) คำที่มีพยัญชนะซ้ำ ๆ กันเช่น รักเร่ (เร่รัก?) รักร้าง (ร้างรัก?) เป็นต้น เพราะจะกลายเป็นแค่สลับพยางค์กันเท่านั้น ง่ายเกินไปใช้เป็นปริศนาคำทายไม่ได้

๔. กลอนปริศนาคำผวนง่ายทึ่สุด ในปริศนาคำทายบทร้อยกรอง เพราะมีคำตอบในคำถาม เหมาะสำหรับฝึกเชาวน์ปัญญาเยาวชน แต่ควรใช้คำสุภาพเท่านั้น และไม่แต่งเพื่อเหน็บแนมหรือเสียดสีใคร (ขอย้ำอีกครั้ง)

๕. คำผวน (spoonerism)  คือ การเล่นสับเสียงของคำ โดยสลับตำแหน่งพยัญชนะ และสระกับคำเดิม คำผวนในภาษาไทย เช่น ไสเจีย = เสียใจ, โทต๋อง = ท้องโต,  แจ็วหลบ = จบแล้ว เป็นติน

ที่มา https://tvtropes.org/pmwiki/pmwiki.php/Main/Spoonerism

Spoonerism หรือคำผวนที่ฝรั่งเล่นกันเพื่อสร้างความขบขัน แต่ไม่ได้เน้นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับทางเพศโดยตรงเหมือนอย่างคำผวนไทย เช่น

tons of soil = sons of toil
you've tasted two worms = you've wasted two terms
is the bean dizzy? = is the Dean busy?
go and shake a tower = go and take a shower

โดยการเล่นคำผวนมีการเล่นแพร่หลายในหนังตะลุงทางภาคใต้เป็นอย่างมากจนมีผู้กล่าวว่าถ้าคณะหนังตะลุงคณะไหนไม่เล่นคำผวนจะไม่มีคนดู ส่วนวรรณกรรมมีทั้งที่เป็นวรรณกรรมปกปิดในราชสำนัก  (เรื่องพระเอ็ดยง : สงสัยกันว่า คุณสุวรรณ กวีเอกสตรีราชินิกุล ณ บางช้างสมัยรัตนโกสินทร์ ๒๓๕๒-๒๔๑๘ เป็นผู้แต่ง เพราะคุณพุ่มคุณสุวรรณเป็นกวีเอกสตรียุคเดียวกันมีการจำผลงานของท่านทั้งสองสับสนกันในยุคหลัง)

แต่สุดยอดคำผวนที่ได้รับการยกย่องเชื่อว่าเป็นภูมิปัญญาด้านภาษาและวรรณกรรมใต้และของไทยในปัจจุบันคือเรื่อง "สรรพลี้หวน" 18+ ซึ่งเป็นสุดยอดของการเล่นคำผวนและกลบท โดยผู้เรียบเรียงกล่าวว่า "อ่านได้แต่อย่าแปลหรือผวนกลับ" (รู้ในใจ แต่อย่าผวนกลับให้คนอื่นฟัง) เพราะคำผวนและวรรณกรรมคำผวนมักจะเป็นคำที่ผวนหรือแปลกลับได้เป็นคำหยาบ

สรรพลี้หวน ไม่ปรากฏผู้แต่งแน่ชัด นอกจากนามแฝงที่เรียกว่า ขุนพรหมโลก ซึ่งต่อมามีผู้จัดพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๖ ก็อ้างว่าตนคือขุนพรหมโลกเช่นกัน (บ้างท่านมีความเห็นว่าวรรณกรรมคำผวนเรื่องนี้น่าจะมีมาแต่ครั้งปลายกรุงศรีอยุธยา..เพราะเป็นยุคที่เริ่มมีความนิยมแต่งกลอน และกลอนกลบท โดยยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่น่าเชื่อถือรับรองแน่ชัด) ส่วนวรรณกรรมคำผวนที่มีชื่อเรื่องอื่นคือ "สรรพลอด้วน" ของชาวใต้ก็ไม่ปรากฏผู้แต่งและก็ไม่เป็นที่นิยมมากนัก

๖. แต่ในงานชิ้นนี้เป็นการสร้างสื่อให้เยาวน์ใช้เรียนในสถานศึกษา จึงขอความอนุเคราะห์ให้ใช้เฉพาะคำผวนที่ไม่เป็นคำหยาบ ทั้งตัวคำผวนเองและคำแปล

๗. ให้นักศึกษาแต่ละกลุ่ม สร้างคำผวนขึ้นใหม่เพื่อให้ได้คำผวนที่ไม่เป็นคำหยาบ และแต่งปริศนาคำทายเป็นกลอนสักวา ตามสลากที่ตนจับได้ ๑ - ๔

๘. ห้ามใช้คำหรือพยางค์ที่เป็นคำตอบมาใส่ในบทกลอน เช่น หลังบ้าน = หลานบัง มีในวรรคได้ครั้งเดียวห้ามมีคำว่า "หลัง" หรือ "บ้าน" ในวรรคคำถามนั้น ๆ

๙. เนื้อหาในแต่ละวรรคให้ถามและใบ้จบในแต่ละวรรคไป ไม่จำเป็นต้องเชื่อมเนิ้อหาแต่ละวรรคถึงกัน เพราะคำตอบจะเชื่อมถึงกันเอง เพราะเป็นศัพท์อยู่หมวดเดียวกัน หรือมีสัมผัสกันอยู่แล้ว