กลบทอักษรล้วน
๑. ส่วนใหญ่ใช้แต่งบทชมธรรมชาติ คำที่ใช้ มักเป็นคำโดด ทั้ง ไทย จีน เขมร มอญ แขก ฝรั่ง ฯ
๒. ในแต่ละวรรค หรือบาท (สำหรับโคลง) เล่นสัมผัสอักษรตัวเดี่ยวกันทั้งหมด
๓. รักษาสัมผัสบังคับตามฉันทลักษณ์ไว้ตามชนิดของบทร้อยกรอง
๔. เฉพาะคำประพันธ์ที่แต่งด้วยกลอนที่ไม่ใช่กลอน ๔ ไม่ควรลงท้ายด้วยคำตาย (คำที่สะกดด้วย แม่กก, กด, กบ) ที่พยางค์สุดท้ายของวรรครับ และส่ง โดยพยางค์สุดท้ายของวรรครับควรเป็นเสียงสูง ส่วนวรรคส่งต้องเป็นเสียงต่ำ (เฉพาะกลอนเท่านั้น)
๕. โดยทั่วไปสัมผัสบังคับมักใช้ แม่ ก กา สระอี, ไอ, อา เพื่อให้แต่งต่อง่าย ๆ แต่ถ้าหาคำสัมผัสสระได้ก็ไม่จำเป็น
๖. กรณีภาษาไทยมาตรฐานหรือภาคกลางไม่มีคำใช้ ใช้ภาษาถิ่น คำยืมภาษาต่างประเทศได้ หรือคำแปลงได้บ้าง ถ้าเข้ากับเนื้อความ แต่ต้องอธิบายศัพท์ต่อท้ายไว้ ทุก ๆ ครั้ง
ภาพใบไม้สีทอง หรือ ย่านดาโอ๊ะ เป็นไม้เถาขนาดใหญ่ ใบอ่อนมีมีขนสีน้ำตาลแดง หรือขนสีทองแดง
ภาพต้นทองกวาว ,ก๋าว,ทองต้น , จอมทอง, จ้า หรือดอกจาน (พบทุกภาคในประเทศไทย)
................
๑) แต่งเป็นกลอนเก้า (กลอักษรล้วน)
๐ ลิงลมล้วน ลงลามเล่น เล็งไล่แล้ว........กลไก่แก้ว เกาะกิ่งกาญจน์ กู่เกี่ยวใกล้
ช้างชวนชอบ ชิดชลชง ชนชิงชัย..............เต่าตื่นไต่ ตกต่ำเต้า ตูดติดตม ฯ
๐ บุ้งบนบก แบ่งใบบอน บางบ่นบ้าง.........เสือสิงห์สาง สาบสุดไศล์ สื่อสบสม
ดูเดียร์ดาว เด่นดวงดอก ดังเด็ดดม.......... ไคลคลาคม ครู่ค้างคาวครวญค่ำเคย ฯ|~
(By M. Rudrakul)
๒) แปลงเป็นกาพย์ยานี (กลอักษรล้วน)
๐ ลิงลมลงไล่แล้ว.............กิ่งไก่แก้ว เกาะกู่ใกล้
ช้างชิดชลชิงชัย................เต่าตื่นตกตูดติดตม ฯ
๐ บุ้งแบ่งใบบอนบ้าง.........เสือสิงห์สางสาบไศล์สม
ดังเดียร์ดาวเด็ดดม.......... ไคลคลาค้างคาวค่ำครวญ ฯ|~
(By M. Rudrakul)
๓) แบ่งเป็นโคลงสี่สุภาพ (กลอักษรล้วน)
๐ ลิงลมลงไล่แล้ว..................ลงลา ลามเล่น
กุมกิ่งกาญจน์ไกลกา.............ไก่แก้ว
ช้างชนใช่ชินชา.....................ชลชื่น ชิดชัย
ตราบเต่าตกติดแต้ว...............ตื่นใต้ตูดตม ฯ
๐ บางใบบอนแบ่งบุ้ง............บนแบว บกบอก
เสือสบสิงห์ไศล์แสว.............สาบไส้
ดูเดียร์ดั่งแดแดว..................ดมเด็ด ดาวใด
คราวค่ำคิดคลาไคล้.............คาบค้างคาวครวญ ฯ|~
(By M. Rudrakul)
ภาพลิงลม หรือนางอาย (เคลื่อนไหวช้าเวลากลางวัน แต่เป็นเลี้ยงลูกด้วยนมที่มีพิษที่ข้อศอก และน้ำลาย)
ถอดความ :
เห็นนางอายต่างลงมาจากต้นไม้ก็ค่อยมองไล่
ทั้งไก่ฟ้าพญาลอ ก็จับกิ่งไม้ทองร้องอยู่ใกล้
ตอนนั้นช้างก็ชนกันสู้อยู่ริมฝั่งน้ำ
ทำให้เต่าที่ไต่ขึ้นมาตกใจตกลงไปจนตูดของมันปักลงไปในโคลนตม
ส่วนหนอนบุ้งที่อยู่บนบกก็กินใบบอนจนบางลงไปบ้าง
เสือและสิงห์ร้ายในป่าก็ทิ้งกลิ่นสาบไว้ตามโขดหินที่มันไป
เพื่อดูกวางดาวที่มีลายดุจดวงดอกไม้ที่เด็ดดมได้
จำต้องดำเนินจากไปในครู่เดี๋ยวเดียวก็ค่ำเพราะได้ยินเสียงค้างคาวร้องดังเคย
ภาพไก่ฟ้าพญาลอ (ไก่สายพันธุ์จำพวกนกกระทาและไก่ฟ้า พบทางภาคเหนือ อีสาน ลาว กัมพูชา ฯ)
ภาพไก่ฟ้าหน้าเขียว (พบทางภาคใต้ มาเลเซีย บอร์เนีย และหมู่เกาะสุมาตรา)
ศัพท์
ลิงลม = นางอาย
ไก่แก้ว = ไก่ฟ้าพญาลอ เป็นพันธุ์ไก่ป่าชนิดหนึ่ง
สาง = กลิ่นศพ ในที่นี้หมายถึงกลิ่นซากสัตว์ที่ถูกเสือและสิงห์กินติดตามโขดหิน
ไศล์ (อ่าน ไส) = ไศล (สะ-ไหล) แปลว่า โขดหิน, ศิลา, หินขนาดใหญ่
กู่ = ในที่นี้ใช้ในความหมายว่า "เสียงร้องดังให้รู้ว่าอยู่ที่ไหน"
บุ้ง = หนอนบุ้ง
เดียร์= deer แปลว่า "กวาง"
คม = คมนาคม , ไป
............ศัพท์เพิ่มเติมสำหรับโคลง........
แสว = แส่วหนี, หนีไป
แดว = กระแด่ว , ดิ้นอยู่กับที่
แด = ดวงแด, ดวงใจ, หัวใจ
ดั่งแดแดว = หัวใจที่เหมือนดิ้นอยู่กับที่ , ใจเต้น ในที่นี้หมายถึงเสือ และสัตว์นักล่าเห็นกวางดาวแล้วใจเต้นอยากเข้าไปจับเอามากิน
แต้ว = แต้วแร้ว, นกชนิดหนึ่ง
แบว= บ้องแบ็ว, มีหน้าตาพิลึก ในที่นี้หมายถึงใบไม้ที่ถูกหนอนกินจนดูเหมือนมีหน้าตาผิดไปจากเดิม
สาบไส้ = กลิ่นสาบเหม็นเข้าไส้, กลิ่นสาบเหม็นมาก
คลาไคล้ = คลาไคล, ดำเนินไป, ไป
ภาพหนอนบุ้ง หนอนแก้ว หรือร่าน (มีหลายสายพันธุ์เป็นหนอนผีเสื้อชนิดหนึ่งขนขึ้นตามตัวมีพิษ)
..........
หมายเหตุ
กลอนเก้า
มีปรากฏในกลบทศิริวิบุลกิตติ สมัยอยุธยาตอนปลาย แต่สมัยต่อมาไม่ได้รับความนิยมแต่งมากเท่ากลอนแปด แต่กวีบางท่านเช่น ท่านพุทธทาสภิกขุ ก็แต่งกลอนเก้าเพื่ออธิบายหัวข้อหลักธรรมในพุทธศาสนาบาง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะคำบาลีสันสกฤตบางคำแยกออกจากกันไม่ได้ จึงทำให้คำประพันธ์บางบทเข้าลักษณะของกลอนเก้ามากกว่า
ความจริงตั้งแต่ กลอนแปดขึ้นไป ลักษณ์ฉันทลักษณ์ไม่ได้ต่างกันมากนัก จำนวนพยางค์ก็ลื่นไหลได้ตั้งแต่ แปดพยางค์ถึงสิบเอ็ด สิบสองพยางค์ ถ้าคำที่ใช้เป็นคำบาลีสันสกฤตที่ตัดทิ้งไม่ได้ โดยคำนึงถึงความไพเราะเป็นสำคัญ
ในบางครั้งจึงเห็นกลอนเก้าก็แต่งปน ๆ อยู่กับกลอนแปด หรือกลอนแปดที่มีพยางค์แต่ละวรรค เป็นเก้าบ้าง เจ็ดบาง สิบบ้าง ฯ เป็นปกติ (ขึ้นอยู่กับความไพเราะอีกนั้นแหละ)
ภาพนกแต้วแร้ว หรือแต้วแล้ว (สีสวยงาม ชอบทำรัง กระโดด เดินบนพื้นดินในป่า แต่บินได้ในระยะสั้น)
ที่มา http://tryanimal.blogspot.com/p/blog-page_73.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น