วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

สักวาปริศนาคำผวน

ที่มา https://suzannewoodsfisher.com/fun/friday-fun-spoonerisms/

๑) กลอนปริศนาคำทายที่คำตอบลงท้าย "สระไอ" เหมือนกัน (ใช้สอนเรื่อง ไอ การันต์ และสัมผัสสระได้)

กะได = ไกดะ  , สักวา"ไกดะ" เดาไตภาษา
ตะไล = ไตละ  "ไตละ"ลาลี้เล่นพลุพลุ่งหัว
สมัย = ไสมะ   "ไสมะ"มายุคยืนยานนานนัว
อะไร = ไอระ  "ไอระ" รัวเร่งเร้าถามความใด
กำไร = ไกรำ  , มี "ไกรำ" หรือไม่เมื่อขายขำ
ทำไม = ไทมำ , ทุกข์ " ไทมำ" เมื่อรู้ดูสดใส
ลำไย = ไลยำ, สวน "ไลยำ" เยี่ยมยลหยิบผลไว
อำไพ = ไอพำ, ส่องแสง "ไอพำ" พึงครุ่นคิดเอย

๐สักวา "ไกดะ" เดาไตภาษา............"ไตละ"ลาลี้เล่นพลุพลุ่งหัว
"ไสมะ"มายุคยืนยานนานนัว..............."ไอระ" รัวเร่งเร้าถามความใด ฯ
๐ มี "ไกรำ" หรือไม่เมื่อขายขำ............ทุกข์ " ไทมำ" เมื่อรู้ดูสดใส
สวน "ไลยำ" เยี่ยมยลหยิบผลไว.........ส่องแสง "ไอพำ" พึงครุ่นคิดเอย ฯ|~

By M. Rudrakul
.........
๒) ปริศนาคำผวนแบบคำตอบ สัมผัสสระโยงกันเป็นลูกโซ่ (ใช้สอนสัมผัสสระได้)

สะใภ้ = ไสภะ, สักวา ลูก "ไสภะ" ใช่เขย
ไหมพรม = ห่มไพร, "ห่มไพร"เคยคุ้มอุ่มฟูนุ่ม
ยมราช = ญาติร่ม, "ญาติร่ม"นรกหรือถนนสื่อสุ่ม
วาสนา = หว้าสะนาฏ, "หว้าสะนาฏ" นั้นโชคชุ่มชมกัน
น่ารัก = นักล่า, แต่ "นักล่า" เล่นเล่ห์เสน่หา
จักพราก = จากพัก, "จากพัก" พาเพื่อนนกน้ำในสวรรค์
รากไม้ = ไร้มาก, หาก "ไร้มาก" หมายเหง้าไพรพรรณ
ไตรรัตน์ = ตรัสไล่, "ตรัสไล่" ลั่นโลกลัวนพึ่งแล้วเอย

๐ สักวาลูก "ไสภะ" ใช่เขย............ "ห่มไพร"เคยคุ้มอุ่มฟูนุ่ม
"ญาติร่ม"นรกหรือถนนสื่อสุ่ม........"หว้าสะนาฏ" โชคชุ่มชมกัน ฯ
๐ แต่ "นักล่า" เล่นเล่ห์เสน่หา......."จากพัก" พาเพื่อนนกน้ำในสวรรค์
"ไร้มาก" หมายเหง้าไพรพรรณ......."ตรัสไล่" ลั่นโลกลัวนพึ่งแล้วเอย ฯ|~

By M. Rudrakul
........
๓) แบบคำตอบมีคำหน้าเป็นคำเดียวกัน หรือเสียงเดียวกัน (ใช้สอนคำพ้องเสียงได้)

จันทรเพ็ญ = เจ็ญพันธุ์, สักวา "เจ็ญพันธุ์" พูลสวรรค์
จันทร์กะลา = จากะลัน, "จากะลัน"เล็งเสี้ยวสล้างฟ้า
จันทบุรี = จันท์บุรี = จีบุหลัน, "จีบุหลัน"เลิศเมืองมณีมีค่า
จัณฑาล = จานทัน , "จานทัน"ท้า ทำลายชนชั้นใด
จัญไร = ไจรัน, ด่า "ไจรัน" รันทดสลดแล้ว
จันทรกานต์ = จานทะกัน, "จานทะกัน"แท้แก้วแพรวสดใส
จันทรเศขร = จอนทะเสขัน, ปาง "จอนทะเสขัน" ขานศิวะใหญ่
จัณฑี = จีทัน, ไท้เทวี "จีทัน"ดุ อุมาเอย

๐ สักวา "เจ็ญพันธุ์" พูลสวรรค์..........."จากะลัน"เล็งเสี้ยวสล้างฟ้า
"จีบุหลัน"เลิศเมืองมณีมีค่า................."จานทัน"  ท้า ทำลายชนชั้นใด ฯ
๐ ด่า "ไจรัน" รันทดสลดแล้ว.............."จานทะกัน"แท้แก้ว แพรวสดใส
ปาง "จอนทะเสขัน" ขานศิวะใหญ่.......ไท้เทวี "จีทัน"ดุ อุมาเอย ฯ|~

By M. Rudrakul

............

๔) ปริศนาคำทายคำผวนที่มีคำตอบพยางค์หลังซ้ำกัน (ใช้สอนเรื่องคำประสมได้)

๔.๑ แปลงคำปกติเป็นคำผวน

หลังบ้าน = หลานบัง
หน้าบ้าน = หนานบ้า
หมู่บ้าน = หมานบู่
ผู้ใหญ่บ้าน = ผ้านใยบู้
ลูกบ้าน = ล้านบูก
เจ้าบ้าน = จ้านเบ้า
พ่อบ้าน = พ้านบ่อ
แม่บ้าน = ม้านแบ่

๔.๒ เอาคำผวนมาแต่งเป็นบทร้อยกรอง (กลอนสักวา)

หลังบ้าน = หลานบัง, สักวา "หลานบัง" บอกเรือนท้าย
หน้าบ้าน = หนานบ้า, "หนานบ้า"ปลายเบื้องต้นประตูใหญ่
หมู่บ้าน = หมานบู่, "หมานบู่" อยู่สุขทุกเคหะไป
ผู้ใหญ่บ้าน = ผ้านใยบู้, เพราะ "ผ้านใยบู้"ตูนี้ท่านดีจริง 
ลูกบ้าน = ล้านบูก, อีก "ล้านบูก" เบิกบาน บ่ ทำชั่ว
เจ้าบ้าน = จ้านเบ้า, "จ้านเบ้า"ขรัว ขุมคุณนึก ระลึกยิ่ง
พ่อบ้าน = พ้านบ่อ, พิศ "พ้านบ่อ"บ่าวหัวหน้าทำหน้าตึง
แม่บ้าน = ม้านแบ่, สั่งให้ซึ้งสาว "ม้านแบ่" บ่นเบื่อเอย

๔.๓ เรียงคำผวนตามฉันทลักษณ์กลอนสักวา และแต่งสัมผัสบังคับให้ถูกต้อง

๐ สักวา "หลานบัง" บอกเรือนท้าย......."หนานบ้า"ปลายเบื้องต้นประตูใหญ่
"หมานบู่" อยู่สุขทุกเคหะไป................เพราะ "ผ้านใยบู้"ตูนี้ท่านดีจริง ฯ
๐ อีก "ล้านบูก" เบิกบาน บ่ ทำชั่ว........"จ้านเบ้า"ขรัว ขุมคุณนึก ระลึกยิ่ง
พิศ "พ้านบ่อ"บ่าวหัวหน้าทำหน้าตึง.....สั่งให้ซึ้งสาว "ม้านแบ่" บ่นเบื่อเอย ฯ| ~

By M. Rudrakul

หมายเหตุ :

๑. เพื่อใช้เป็นสื่อการสอนเรื่องคำผสม คำซ้อน คำซ้ำสำหรับเยาวชน ไม่ควรใช้คำผวนที่เป็นคำหยาบ ทั้งคำที่เป็นคำหยาบนำมาผวน หรือคำสุภาพที่ผวนแล้วกลายเป็นคำหยาบ

๒. ให้ใช้คำสุภาพผวนแล้วกลายเป็นคำที่ไม่มีความหมายได้

๓. คำที่ไม่ควรนำมาผวน
๓.๑) คำที่มีสระและตัวสะกดมาตราเดียวกันไม่ควรนำมาผวน เช่น งานบ้าน (ง้านบาน?) การบ้าน (ก้ารบาน?) เป็นต้น
๓.๒) คำที่มีพยัญชนะซ้ำ ๆ กันเช่น รักเร่ (เร่รัก?) รักร้าง (ร้างรัก?) เป็นต้น เพราะจะกลายเป็นแค่สลับพยางค์กันเท่านั้น ง่ายเกินไปใช้เป็นปริศนาคำทายไม่ได้

๔. กลอนปริศนาคำผวนง่ายทึ่สุด ในปริศนาคำทายบทร้อยกรอง เพราะมีคำตอบในคำถาม เหมาะสำหรับฝึกเชาวน์ปัญญาเยาวชน แต่ควรใช้คำสุภาพเท่านั้น และไม่แต่งเพื่อเหน็บแนมหรือเสียดสีใคร (ขอย้ำอีกครั้ง)

๕. คำผวน (spoonerism)  คือ การเล่นสับเสียงของคำ โดยสลับตำแหน่งพยัญชนะ และสระกับคำเดิม คำผวนในภาษาไทย เช่น ไสเจีย = เสียใจ, โทต๋อง = ท้องโต,  แจ็วหลบ = จบแล้ว เป็นติน

ที่มา https://tvtropes.org/pmwiki/pmwiki.php/Main/Spoonerism

Spoonerism หรือคำผวนที่ฝรั่งเล่นกันเพื่อสร้างความขบขัน แต่ไม่ได้เน้นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับทางเพศโดยตรงเหมือนอย่างคำผวนไทย เช่น

tons of soil = sons of toil
you've tasted two worms = you've wasted two terms
is the bean dizzy? = is the Dean busy?
go and shake a tower = go and take a shower

โดยการเล่นคำผวนมีการเล่นแพร่หลายในหนังตะลุงทางภาคใต้เป็นอย่างมากจนมีผู้กล่าวว่าถ้าคณะหนังตะลุงคณะไหนไม่เล่นคำผวนจะไม่มีคนดู ส่วนวรรณกรรมมีทั้งที่เป็นวรรณกรรมปกปิดในราชสำนัก  (เรื่องพระเอ็ดยง : สงสัยกันว่า คุณสุวรรณ กวีเอกสตรีราชินิกุล ณ บางช้างสมัยรัตนโกสินทร์ ๒๓๕๒-๒๔๑๘ เป็นผู้แต่ง เพราะคุณพุ่มคุณสุวรรณเป็นกวีเอกสตรียุคเดียวกันมีการจำผลงานของท่านทั้งสองสับสนกันในยุคหลัง)

แต่สุดยอดคำผวนที่ได้รับการยกย่องเชื่อว่าเป็นภูมิปัญญาด้านภาษาและวรรณกรรมใต้และของไทยในปัจจุบันคือเรื่อง "สรรพลี้หวน" 18+ ซึ่งเป็นสุดยอดของการเล่นคำผวนและกลบท โดยผู้เรียบเรียงกล่าวว่า "อ่านได้แต่อย่าแปลหรือผวนกลับ" (รู้ในใจ แต่อย่าผวนกลับให้คนอื่นฟัง) เพราะคำผวนและวรรณกรรมคำผวนมักจะเป็นคำที่ผวนหรือแปลกลับได้เป็นคำหยาบ

สรรพลี้หวน ไม่ปรากฏผู้แต่งแน่ชัด นอกจากนามแฝงที่เรียกว่า ขุนพรหมโลก ซึ่งต่อมามีผู้จัดพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๖ ก็อ้างว่าตนคือขุนพรหมโลกเช่นกัน (บ้างท่านมีความเห็นว่าวรรณกรรมคำผวนเรื่องนี้น่าจะมีมาแต่ครั้งปลายกรุงศรีอยุธยา..เพราะเป็นยุคที่เริ่มมีความนิยมแต่งกลอน และกลอนกลบท โดยยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่น่าเชื่อถือรับรองแน่ชัด) ส่วนวรรณกรรมคำผวนที่มีชื่อเรื่องอื่นคือ "สรรพลอด้วน" ของชาวใต้ก็ไม่ปรากฏผู้แต่งและก็ไม่เป็นที่นิยมมากนัก

๖. แต่ในงานชิ้นนี้เป็นการสร้างสื่อให้เยาวน์ใช้เรียนในสถานศึกษา จึงขอความอนุเคราะห์ให้ใช้เฉพาะคำผวนที่ไม่เป็นคำหยาบ ทั้งตัวคำผวนเองและคำแปล

๗. ให้นักศึกษาแต่ละกลุ่ม สร้างคำผวนขึ้นใหม่เพื่อให้ได้คำผวนที่ไม่เป็นคำหยาบ และแต่งปริศนาคำทายเป็นกลอนสักวา ตามสลากที่ตนจับได้ ๑ - ๔

๘. ห้ามใช้คำหรือพยางค์ที่เป็นคำตอบมาใส่ในบทกลอน เช่น หลังบ้าน = หลานบัง มีในวรรคได้ครั้งเดียวห้ามมีคำว่า "หลัง" หรือ "บ้าน" ในวรรคคำถามนั้น ๆ

๙. เนื้อหาในแต่ละวรรคให้ถามและใบ้จบในแต่ละวรรคไป ไม่จำเป็นต้องเชื่อมเนิ้อหาแต่ละวรรคถึงกัน เพราะคำตอบจะเชื่อมถึงกันเอง เพราะเป็นศัพท์อยู่หมวดเดียวกัน หรือมีสัมผัสกันอยู่แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น