วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561

นิราศเรียนฮินดี

"นิราศเป็นเรื่องเกี่ยวกับรัก แต่ผมรักที่จะเที่ยวและเรียนรู้"


Picture: Tajmahal, Agra India
Refer to: https://www.telegraph.co.uk/news/2017/08/30/indian-archaeologists-refute-claim-taj-mahal-hindu-temple/

บทไหว้ครู 

         นิราศไม่จำเป็นต้องมีบทไหว้ครู แต่บทนี้แต่งสมัยที่ไปเรียนภาษาฮินดีปีแรกที่อินเดีย เมื่ออยู่ที่นั่นนาน ๆ แล้วคิดถึงบ้านที่เมืองไทย

ก..๐ ข้าขอไหว้พ่อฟ้า.........ลือสรวง

โปรดหมู่ประชาปวง...........แหล่งหล้า

หกสิบสู่ปีหลวง..................ราชย์พ่อ เพ็ญเอย

ขอพ่อเกษมเปรมฟ้า...........คู่ฟื้น เฟื่องไทย

ข...๐ ข้าขอไหว้แม่ฟ้า.........ลือโลก

บุญส่งบำราบโศก..............สร่างแล้ว

เดือนสิงห์เด่นธงโบก.........วันแม่ เวียนหนอ

ขอแม่เป็นมิ่งแก้ว................คู่ฟ้า คุ้มไทย

ค..๐ไหว้ทั้งองค์หน่อไท้.....ศิวะบุตร

เทพทั่วพรหมพิสุทธิ์..........ส่องฟ้า

สิทธาหมู่วิมุติ....................ธรรมสั่ง สอนนา

เดียวแต่ไตรรัตน์อ้า............ทั่วอ้าง โอบบุญ

ง..๐ยอกรกราบคุณพ่อบ้าง...บรม

คุณแม่มากมายกลม.............แก่ข้า

คุณญาติยิ่งเยาว์ชม..............เชาว์ช่วย ชาญแฮ

คุณเพื่อนพงศ์พันธุ์กล้า.........ก่อเกื้อ เกาเข็ญ

จ..๐ถวายกรเพ็ญพุ่มเพี้ยง......บทมาลย์

น้อมแด่ครูอาจารย์..................จ่อเกล้า

สันสกฤตพร่ำสอนสาร.............ศิษย์ชื่น ชมนา

จนบ่งบดเป็นเถ้า......................ถี่ถ้วน ฤาถอย

ฉ..๐มามาจะต่อสร้อย...............เสกสอย

เต้าแต่อินเดียคอย...................ข่าวอ้าง

ฮินดีเร่งเรียนจอย....................จริงเล่า เรียนมา

นอนอยู่อาคราค้าง..................ค่ำเช้า เนาสวรรค์

ช..๐เพียงรำพันห่วงเพี้ยง.........เพียงรัก

รักเล่าเรียนเพียรนัก..................เร่งรู้

รักครูเพื่อนพวกพรรค...............รักพ่อ พงศ์นา

รักชุ่มชาติรักชู้..........................สั่งร้าง สงสาร

………………………..

(เริ่มนิราศ)

1..๐นิราศมา เรียนฮินดี ฮินดูสถาน [1]

ให้โศกแสน แค้นใจ ในวิญาณ

พลาดพบพาน ประจักษ์เจ้า จึงเศร้าใจ



2..๐พี่พร่ำเพียร เขียนขาน อ่านอักษร

อยู่กินนอน เนาอาครา [2] หน้าสดใส

กินโรตี ต่างข้าว..เคล้า เครื่องจิ้มไทย

พอนานไป ก็ลวย [3] ลิ้น ลื่นรสดาล [4]



3..๐ถึงโมงเช้า เข้าเรียน ศัพทศาสตร์

หนึ่งร้อยคราส [5] คือร้อยคิด พิศเสียงประสาน

อย่างที่เจ้า เฝ้าเว้าเวียน ในวันวาน

พี่เพียงขวาน ผ่านฟืน ฟาด..เจ็บเรา



4..๐ถึงยามสาย ก็เรียนเร่ง เรื่องหนังสือ

ที่เรื่องลือ ล้วนเหล่า นิทานเขา

ทั้งปฏิทิน ถิ่นภารต [6] ประเพณีเก่า

ยังแต่เจ้า อยู่จำ ในใจเรียม



5..๐พอตกบ่าย ก็เพลิดเพลิน กับมื้อเที่ยง

พี่ไม่เกียง กินไม่เลือก เลียจนเลียม

มีถั่วแตง แฟงฟัก โรตีเกรียม

ก็ยอดเยี่ยม อย่างน้องพี่ ที่กินเจ



6..๐ถึงยามบ่าย คลายคล้อย เจ้าอยู่ไหน

พี่อยู่ไกล กลางทาง สะพายเป้

เมื่อเรียนเลิก เบิกบาน พาลเตร็ดเต

จนโพล้เพล้ เพลาค่ำ ก็คืนเรือน



7..๐ในเดือน 11 เคล็ดดี ดีวาลี [7]

ให้สดศรี สนุกสนาน กับผองเพื่อน

จุดประทีป ทองฉลอง เจ้ามาเยือน

ทุกเสียงเอื้อน ออกทำนอง พร้องภักดี



8..๐พอตกดึก สว่างพลุ คนพลุกพล่าน

นึกวันวาน นอนคู่นุช ไม่หน่ายหนี

ขอพระเจ้า ทรงโปรด ปรานี

ให้สอบพี่ ผ่านพ้นไป ได้ไชยโย



9..๐ในปีใหม่ หมายมุ่ง เมืองมัทดราส [8]

แสนสะอาด อุดมบุญ คุณอักโข

เห็นชาวใต้ เตรียมโปงคล [9] เคารพโค

แต่งตัวโก้ เก๋อย่างวัว วิเศษจริง



10..๐ไม่อิ่มชม กำหนดกลับ ก็มาถึง

รีบตะบึง บอกรถ ริกชอ [10] ซิ่ง

กลับอาครา กับสาวยุ่น [11] ยุ่งจริงๆ

ไม่ยอดยิ่ง อยู่ง่ายๆ อย่างแม่นา



11..๐ถึงเดือนสี่ งานกีฬา ก็กำสรวล

สาวๆชวน ชนก็ยอม พร้อมหรรษา

ใยประชัน ขันแข่ง แบ่งพลา

ข่มไว้ท่า คืนครอง ของสองเรา



12..๐แรมเดือนสี่ นี้หนึ่งค่ำ คืนโฮลี [12]

คนมณี นาคอัสสัม [13] ย่ำรำเท้า

จับมือถือ เขย่ง เด้งดึ๋งเอา

เช่นชาวเย้า ญวนกระเหรี่ยง หรือ..ไทใหญ่



13..๐ครั้งเดือนหก ให้เสร็จสอบ สิ้นทั้งห้อง

พี่รีบจอง จับตั๋ว ทัวร์แดนใต้

มาไหว้ครู อยู่มัทดราส ด้วยดวงใจ

ท่านรีบไล่ เดินเรื่อง เมืองเดลี



14..๐อันตั๋วนอน [4] อ่อนรัก รถไฟเอ๋ย

ใช่คิดเคย เคืองค้าง หว่างวิถี

แต่ห่วงใย เยาวะ  [15] ...ยอด นารี

ของข้านี้ เนาหลัง...จะ..ตั้งตารอ



15..๐อันน้องพี่ พ่อแม่ แลผู้เฒ่า

ทั้งสองเรา เช้าเย็น เป็นสุขหนอ

เคยฝากรัก พักใจ ไว้หน้าจอ

ก่อนกลับหอ ห้องของ คอมไอเว [16]



16..๐ส่งฮอตเมล ยะฮู่แมว แล้วกลูเกล้ว [17]

รูปใส่เยว ยีหัวตั้ง นั่งทำเท่

เสื้อคอกลม ห่มโธตี [18] พี่โอเค

เพียงว้าเหว่ วุ่นรัก ปักหัวใจ



17..๐เพราะปีใหม่ ได้ข่าว ของพ่อป่วย

พี่ก็ซวย ซ้ำมือ ถือไหล

คิดตะลึง ถึงท่าน อยู่แสนไกล

ทั้งอาลัย ละมุนน้อง ในรถราง



18..๐ไร้มือถือ สื่อดาวเทียม ทั้งใยแก้ว

ดูทิวแถว เทือกผาผ่าน นานจนสาง

แวะวิชัยวะดะ [19] ..น่ะ.. สายไม่ว่าง

จำคืนค้าง รถไฟ ไปก่อนนา



19..๐ชื่อวิชัย วะดะ ดังเรื่องเล่า

โลกสร้อยเศร้า สาปอสูร พูนโทษา

เชิญ....ชัยเทวี ศรีทุรคา

พิฆาตฆ่า หมู่มาร มีโชคชัย



20..๐ข้าขอไหว้ ไท้เทวี ที่ทรงศร

ขอบังอร อาป้า อุ่นอาศัย

พ่อพี่น้อง ผองเพื่อน ภิรมย์ฤทัย

คุณครูไซร้ ทราบศิษย์ จิตซื่อสัตย์



21..๐เห็นเมฆน้อย นั้นนิ่มน้อง ในท้องฟ้า

สุริยา แย้งขยี้ บี้ฟันฟัด

รูปสลาย หายเห็นจริง ยิ่งอึดอัด

พี่ฮึดฮัด หดหู่ อยู่จนบ่าย



22..๐ถึงนาค ปุรี ศรีนาคปู้ร [20]

คนเขาทูน หนมทอด ทำมาขาย

กินขีร [21] กลั้ว กะจอรี [22] ดีจริงจาย [23]

แต่ไม่หาย หิวรัก สลักจิต



23..๐ขอนาคนี้ นาคพัน นาคผูกรัก

นาคประจักษ์ นาคปรากฏ นาคประชิด

นาคละลวย นาคช่วย นาคอวยกิจ

นาคให้ฤทธิ์ คิดนาค นาคผูกพัน



24..๐สนธยา ยามเย็น พระพายพัด

ก็แล่นลัด โภชราชเก่า เข้าโภปั้ล [24]

เห็นฮินดู ดูอิสลาม ล้วนพัลวัน

ในรถนั้น แน่นเดิน เกินโกลา



25..๐แต่ฌานสี [25] มีเงา เราไม่เห็น

ด้วยตอนเย็น ต่างแยกนอน ตามยะถา

ล็อคกระเป๋า เข้าหนุนนอน แนบนิทรา

บ้างห้อยขา แขนก่าย ข้างเตียงบน



26..๐เต็มสามชั้น ปันนอน ในร้อยแถว

แผ่ตามแนว เด็กผู้ใหญ่ ให้สับสน

สุดสมมุติ เหมือนดนตรี คีย์เสียงกลน

คือเหล่าคน คายิกา ก็หลับไป



27..๐ฝันเราสอง ครองกัน เกษมศรี

ด้วยเสาวนีย์ หนุนนำ หน้าสดใส

เป็นกวี กรองแก้ว กาพย์เกียงไกร

สนองไท้ ธิราชเจ้า ชาจาฮาน [26]



28..๐สุขเราสอง รองบาท เบื้องสุขท้าว

ดังแสงดาว เด่นน้ำใส ใช่แก่นสาร

เพียงรักแท้ เทิดฟ้าอยู่ จิรกาล

ดังสุสาน สื่อรักท้าว ทัชมาฮัล [27]



29..๐เช้าพลันตื่น คืนสติ หริลุก

ก็พลอยปลุก ปุษบา มาถือขัน

ล้างหน้าว่า อาครา มาถึงกัน

ข้าว่าฉัน นั้นเปลี่ยนใจ ไปเดลฮี [28]



30..๐แม้นว่าตั๋ว ตีมา อาคราแก๊นท์ [29]

แต่ว่าแปน เปลี่ยนเพราะ คุณครูพี่

สั่งให้ส่ง ซินน๊อปสิต ให้เสร็จดี

ไปก่อนที่ กลับไทยแลนด์ ... แดนเกิด



31..๐เห็นยุงยาง กวางคู่ อยู่นาข้าว

แก้วเกาะราว แก้วอยู่ คู่พริ้งเพริศ

เพียงพี่ ปองคู่ อยู่ประเสริฐ

แม่งามเลิศ ลับอยู่ คู่กับใคร



32..๐ห้องรถไฟ ในว่าง อ้างว้างรัก

ไม่รู้จัก จีนฝรั่ง ยังมาใกล้

เพื่อนอินเดีย เพลียก่อน นอนหลับไป

ทำปุยใบ้ บอกบ้าง ข้างมถุรา [30]



33..๐พลันระลึก นึกถึง..พระทรงฤทธิ์

คือพระ กฤษณะ นาถนาถา

ก่อนที่นี้ มีสมภพ พระจักรา

พระมหา อวตาร พระนารายณ์



34..๐โอ้มยุระปิ่น....โปรด ปรานีบ้าง

นำแนบนาง นิระโศก สิ้นสลาย

สบแต่สุข สุจริต จนตาย

ไม่เสื่อมหาย หนทาง ที่ใฝ่เรียน



35..๐ครั้นยามสาย สิบโมง มาอาคกร้า [31]

ได้เวลา ลงรถไฟ ได้หยุดเขียน

พบริกซอ จ่อมา พาวนเวียน

จนคลื่นเหียน ห่างไป ไกลไกลวัด



36..๐พลันระลึก นึกถึง สถานทูต

หลังแวะดูด ดาฮี พี่ฟุดฟัด

ว่าไภยา [32] ทางอย่างไร ไม่เจนจัด

ขอสลัด ผลัดเปลี่ยน เป็นคันงาม



37..๐จึงแจ้วว่า จานักยะ ปุรีศรี [33]

อย่าช้าที ท่านไปเถิด ถึงบ่ายสาม

80 รูปี มีให้ ไม่วู่วาม

คอยๆถาม ถนัดชัด เร่งลัดไป



38..๐แสนประหม่า ข้ากลัว ทั่วทุกสิ่ง

พรุ่งนี้...จริง! จรอาครา ข้าทันไหม

ไปแจ้งออก บอกตำรวจ ตรวจดังใจ

ด้วยว่าใช้ ชื่อเซ็นกรอก บอกกับตัว



39..๐บ่ายสองกว่า มาถึงถิ่น ไทยสถาน

ได้ไหว้วาน วุ่นวาย อายไปทั่ว

เข็มขัดขาด มาดหลุด หยุดพันพัว

อ้างแปรงหัว ห้องน้ำ นั้นบอกที

40..๐ลุงยามยึด บัตรนัดว่า มาจากไหน

ข้าว่าไทย แท้ๆ แย่แล้วนี่

ลงรถไฟ ใจวัดไทย ไปตามมี

ทั้งวันนี้ นั้นกำหนด ส่งเค้าโครง



41..๐แต่หนทาง อย่างไร ไม่เห็นหน

แม้ผู้คน คันปากรู้ จู้ฉ่างโฉ่ง

เท็จจริงใจ เชื่อได้ ใช่กลโกง

ได้แต่โล่ง ใจลง ปลงนิจจัง



42..๐เพราะต่างแดน แผนที่ มีไม่รู้

ได้คิดอยู่ ย่างมานี่ มีจิตหวัง

พบคนไทย ไทยจะช่วย อวยกำลัง

ได้สอนสั่ง สอบความ ถามทางเดิน



43..๐ถ้วนบ่ายสาม ยามตาม ให้ไปพบ

ผู้เจนจบ จริงใจ ไม่ขัดเขิน

พร้องเผ่าพันธุ์ พลันพี่ว่า มาบังเอิญ

ดังหงส์เหิน หกหัก มาปักตม



44..๐ขอพี่ช่วย ชี้ทาง บ้างซักนิด

ข้าปองจิต จักไปวัด พลัดขื่นขม

เพื่อฝากของ จองไว้ใน ที่ประทม

หลังเสร็จสม สืบแหล่งไป ใฝ่การเรียน



45..๐พี่เขาบอก เบื้องตลาด วัดโภคัล

ไม่เกินกัน 90 รูปี นี้ไม่เพี้ยน

ส่วนซินน๊อป.....สิต [34] คิดดี ที่เว้าเวียน

สามารถเขียน ขานสาร ฝากส่งมา



46..๐ทางสถาน ทูตไทย....จะ ไปส่งให้

ก็ดีใจ ได้กลับไทย ไปเยี่ยมป้า

พ่อที่ป่วย เป็นอย่างไร ได้นำพา

ทั้งคิดหา หุ้นส่วนรัก พักหัวใจ



47..๐โอ้ว่าลม รำเพย พัดเชยชื่น

ข้าคิดคืน ครองรัก ซักเพียงไหน

ท่านก็รู้ ดูอยู่ ยิ่งดวงใจ

ฝากถึงไทย ถิ่นทอง ของสองเรา



48..๐ครั้นเสร็จสรรพ สุขากิจ การสระสรง

ก็แต่งองค์ ทรงเครื่อง คล้ายแขกเขา

มากรอกฟอร์ม ยอมสาร สารพันเอา

บ่ายสี่เล่า ลานักงาน [35] ภาณจากกัน



49..๐พบสามล้อ ต่อไว วัดโภคัล

ได้พาพลัน พ้นรถไฟ ไม่หุนหัน

พ้นตลาด ลาดแล่น ลงทางตัน

ก็สบสันต์ สืบได้ ด้วยปากตน



50..๐พบหลวงพี่ นี้จำรู้ อยู่สองรูป

มือคือทูป เทียนทอง มองขัดสน

ร้อยดวงจิต คิดมาลา ประสาจน

แม้ทุกข์ท้น ท่องมา นมัสการ



51..๐หวังเจ้าประ....คุณบุญพระ จะช่วย

ได้อำนวย แนะชีวิต ประสิทธิ์สาร

ให้รู้ทาง หว่างทุกข์แท้ กระแสธาร

กล้าล้างผลาญ กิเลส ..ร้าง สร้างกรรมดี



52..๐สนทนา ประสาธรรม นำชีวิต

ด้วยดวงจิต แจ่มจันทร์ กระจ่างศรี

ที่ผ่านมา เหมือนมายา ในวารี

แม้นเมื่อมี เมฆหาย สบายจิต



53..๐หกโมงเย็น ยามนั้น วันจำพราก

ได้คิดจาก เจ้าสำนัก พักฟังนิด

สองหลวงพี่ มีเมตตา ข้ามีกิจ

จะชอบผิด ผลสมพงศ์ คงได้เจอ



54..๐ถวายกร กราบงามๆ ตามถี่ๆ

หลวงๆพี่ พร้อมๆเร่ง รถเอื่อยเอ้อ

ติดรถไฟ รถมากๆ หลากๆเนอ

หลงๆเผลอ ผลัดสามล้อ ล้อแล้วลา



55..๐ขึ้นรถไป ไม่อยู่ยั้ง ยันยามเช้า

เพราะออกเอา อาคราช้า น่าปัญหา

นั่งรถบัส อัดแน่น เหนื่อยนั่งนา

เพราะหนักหนา เหนื่อยอ่อน..โอบกระเป๋านอน



56..๐เย็นลมแล้ง ล้วนฝุ่นผง จงคิดแป้ง

ทั้งตะแกง กองอะไหล่ ไม้ขุนขอน

คือผ้าห่ม พรมเพชร เบ็ดเสร็จนอน

เป็นแผลก่อน สะเก็ดขลัง ดังเครื่องลาง



57..๐อาบเหงื่อเหงา เบาสบาย ร้ายขื่นขม

ทุก..ระทม กระทุ้งใจ ไฟทุกข์สร้าง

เหนื่อยตัว ชัวร์ชื่นใน ใจปล่อยวาง

โศกเศร้าบ้าง เบิกบานนิด จิตนิทรา



58..๐แต่ไม่ท้อ พอแล้ว แก้วกาหลง

เพราะเจาะจง ใจมั่น มุ่งศึกษา

แม้นเมรุ ลุลงทาบ แทบพสุธา

ดวงใจข้า ขออยู่เพียร เรียนอินเดีย



59..๐โอ้เดือนดาว พราวสว่าง ที่กลางฟ้า

คำสัญญา ข้าให้ไว้ ไม่สูญเสีย

ความคิดถึง พึงคล้ายหวง พวงพเยีย

จิตรายเรี่ย รักร้อยไว้ ใจถึงใจ



60..๐ให้ความฝัน วันนี้ มีเราสอง

เข้าคืนครอง รองรักร้อน นอนแนบได้

พี่ขอกอด พลอดเจ้า เคล้าคลึงใน

สุดไศล สู่ห้องฟ้า สุธาวิมาน



61..๐พลันอื้ออึง พึงเสียง สิงโตร้อง

แก้วจำเรียง กะเรียงบน บินขับขาน

กระรอกไล่ ลิงเต้นตาม ตรูตระการ

ไม้กิ่งก้าน เกี่ยวย้วย ด้วยเถ้าแตง



62..๐หมู่มัจฉา มาว่ายไล่ ในสระศรี

กินนรี รอนลง แล้วแอบแฝง

นาคคุดคู้ อยู่ในถ้ำ ได้จำแปลง

พรานเสกแสร้ง สุ่มนาฏ ด้วยบาศงู



63..๐เมื่อนั้น นภาเมฆ มามืดครึ้ม

ฟ้ากระหึ่ม เมฆส่งเสียง สำเนียงสู้

ลมก็พัด พฤกษ์ไพร่ ไทรชื่นชู

ประทุมคู่ เคล้าพิรุณ รื่นภิรมย์



64..๐แล้วฝันหวาน ก็หายไป ได้เพียงฝัน

เมื่อถึง ขันดารี ที่ร้านขนม

กระเป๋ารถ ร้องเรียก ระลึกชม

ต่างรีบก้ม เก็บข้าวของ...ตนลง



65..๐ในยามดึก ดีสงัด ลัดมาห้อง

กระเป๋ากอง เก็บเสร็จ ก็สระสรง

พร้อมโทรหา พี่โอ๋ โอ้ปดปลง

สัญญาส่ง สื่อเวลา ข้ามาทัน



66..๐คืนสุดท้าย ทั้งอาครา ข้าใจหาย

ทั้งร้านจาย อาเจ [36] จุดสังสรรค์

ทั้งถนน คนเดิน เพลินเพื่อนกัน

คงต้องผัน ผ่านไปก่อน จรกลับมา



67..๐ไม่ได้หลับ นับยาม จนยามเช้า

จึงคิดเอา อัฐน้อย ร้อยปัญหา

ต้องเดินดุ่ม เดาไป... ปุ- ลิสยาตรา [37]

ไม่รู้ว่า วนเวียน เพียรเลี้ยวใด



68..๐เช้าจนสาย สุ่มเดาเดิน เกินอุสาห์

ทางลวงตา ตอกลวงจิต ผิดอาศัย

โทรถามมิตร มิตรเขาตอบ ก็ขอบใจ

ที่เพรียกให้ หารถ ร้อนอัฐอาย



69..๐เห็นตำรวจ ตรวจมา ข้าถึงถาม

เขาบอกความ ค้างคำไข ขอบใจหลาย

ด้วยยินดี รี้ไปถึง ถิ่นแดนปราย

ปุลิสลาย โปลิสล้วน ปุลิสฆัร [38]



70..๐เข้าสำนัก นักงาน ท่านให้เขียน

ทั้งกราบเรียน เรื่องราว เราสุขสันต์

ได้เล่าเรียน เพียรรู้ อยู่ทุกวัน

อาครานั้น น้องหน่วงรัก จักไม่ลืม



71..๐เสร็จสรรพ ...ฉับ ไว้ไปฮิน...ดีสถาน [39]

ไปบ้านพระ พระให้พร พี่ปลาบปลื้ม

ไปห้องครัว คืนของ เคยขอยืม

ไปดูดดื่ม ดาฮี มีน้ำตาล [40]



72..๐จนยามเย็น ก็โยกย้าย ยังแทรกซี่

เห็นไมตรี มวลมิตรรัก พักสงสาร

ไทยญี่ปุ่น คุณฝรั่ง นั่งในลาน

มิฉะฉาน เฉาสนุก ทุกปากคน



73..๐จนพระข้า หน้านาง ต่างมาครบ

จำจะจบ เจรจา เพื่อพาพ้น

แต่สาวศรี พี่โอ้ เอาโอ่งปน

สองชายสน สืบส่อ อ้อเป๋า [41] เธอ



74..๐สั่งสาวเสร็จ สาม ไทย ได้ ไปแล้ว

ใกล้เมืองแก้ว เกศเดลฮี ที่พร่ำเพ้อ

พระท่านร้อน ผ่อนกระจก ลมจัดเจอ

ไม่แก้เก้อ กำทุกข์ ทุกป่วยเอง



75..๐ในยามค่ำ พระนำไป วัดโภคัล

ได้พักพลัน พบอีกพระ ทั้งทิดเหน่ง

พระท่านว่า มาอยู่ได้ อย่าได้เกรง

วัดนี้เฮง ฮึดอยู่ คู่ศรัทธา



76..๐ครบสี่ไทย คืนก่อนไป ได้ปาร์ตี้

บ้างก็มี มองหลัง ยังถือสา

แต่ผ่องไทย ไม่แล้งใจ ให้นานนา

ต่างกลับมา เหมือนเก่า ก็กลับดี



77..๐เสาร์สิบสาม พฤษภา ก็มาถึง

เช้าตะลึง ลารอแอร์ อินเดียศรี

ต่างก็กลัว เกินเงินนัก น้ำหนักมี

ของข้านี้ ไว้อาครา มาแต่ตัว



78..๐จึงได้แชร์ แผ่น้ำหนัก ยังหนักยิ่ง

โชคดีจริง จอเกาหลี มีมาฮั้ว

เพราะพี่โอ๋ ออกอัชฌาสัย ไม่คิดกลัว

จึงได้ชัวร์ เชิญชั่ง นั่งข้างใน



79..๐ทั้งไทยสาม สาวเกาหลี นี้นั่งแล้ว

ที่นั่งแนว นอนเดียว เกี่ยวก้อยได้

ดังชะตา พาบังเอิญ เชิญเที่ยวไทย

ทั้งสี่ได้ ดูเบิกบาน บนเครื่องบิน



80..๐เช้าวันนั้น ด้วยกัน พลันลัดฟ้า

บ่ายก็มา หน้าดอนเมือง [42] เรืองโกสินทร์

ที่สุดแล้ว ลานัด พลัดแดนดิน

ต่างคืนถิ่น ถนอมกิจ ก็จากกัน



81..๐จึงต้องจบ ครบความ ตามฮินดี

ได้เคยมี มากเพื่อน ต่างชาตินั้น

แต่ก็สุข สุดสนุก ทุกข์ด้วยกัน

กลับโศกสันต์ ถึงวัน พลันจากมา



82..๐จึงได้ขอ ขอบถ้อย เท้าความถึง

ด้วยคะนึง น้องพี่ เพื่อนหรรษา

ใช่อวดรู้ อุตริ แต่งกลอนมา

เพียงด้วยข้า ค่อนแคะ เกะกะใคร



83..๐แต่ว่าข้า วรเดช เพศบุรุษ

ยังไม่สุด สร้อยศิลป์ วิเศษไข

อาจผิดคำ นำร้อย ถอยกลใด

ขอโทษใน นักอ่าน ท่านทุกคน



แต่งโดย วีณาปาณี/ เอ็ม. รุทรกุล




1 ฮินดูสถาน ในที่นี้หมายถึง ประเทศอินเดีย เป็นคำสร้อย อย่างที่คนอินเดียส่วนใหญ่เรียกตนว่า “ฮินดูสตานี” หมายถึงดินแดนแห่งคนฮินดู หมายถึงที่พวกคนเปอร์เซีย เรียกพวกคนที่อยู่ในลุ่มอารยะธรรมสินธุในอดีต ซึ่งต่อมากล่าวมาเป็นชื่อเรียก คนพวกนี้ว่า ฮินดูสตานี และศาสนาที่คนอินเดียส่วนใหญ่นับถือคือศาสนา ฮินดู แต่ที่จริงในอินเดียเป็นแผ่นดินที่ให้กำเนิดศาสนาที่สำคัญอื่นๆ เช่น ศาสนาพุทธ เชน และ ซิก นอกจากนั้นยังเป็นดินแดนที่มีผู้นับถือ ศาสนา คริสต์ และ อิสลาม เป็นจำนวนมากด้วย ซึ่งก็เรียกว่าเป็นชาวอินเดีย หรือฮินดูสตานีเหมือนกัน แม้จะไม่ใช่คนที่นับถือศาสนาฮินดู

2 Agra หรือ “อาครา” ในที่นี้อ่านว่า “อาค- ครา” เพื่อเสียงสัมผัสและฉันทลักษณ์

3 ลวย ในที่นี้ มาจากคำว่า ละลวย หมายถึงว่ามี ลิ้นที่ละลวย ลุ่มหลงด้วยรสของอาหารอินเดียในภายหลังดังต้องมนต์ที่ทำให้ ละลวย ดังเช่นมนต์มหาละลวยที่ทำให้สาวหลง

4 ดาล เป็น แกงถั่วชนิดหนึ่ง

5 class 100 เป็นชินเรียนเบื้องต้นของชาวต่างชาติ ที่เรียกว่า วิเทศี ซึ่งเป็นคนที่มาจากประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนอินเดีย เปรียบเหมือนกับเริ่มจากการเรียนประถม ก-กา ของไทยเรา ไปถึงขั้นพูดรู้เรื่องสำหรับบางคน (ที่ขยัน)ในหลักสูตรเร่งรัด สำหรับชาวต่างชาติ

6ภารต ในที่นี้ด้วยบังคับฉันทลักษณ์ อ่านว่า “ภา-รต”แต่ตามจริงอ่านว่า “ภา เราะ ตะ” (โดยถืออนุโลมเองว่าเสียงสระ “เอาะ” เป็นครึ่งเสียงของ สระ “อะ”)

7 ทีวาลี หรือ ทีปาวาลี ที่จริงคนอินเดียออกเสียงว่า “ดี- วา-ลี” ,Depavali or Devali เป็นเทศกาลคล้ายวันปีใหม่ของชาวอินเดีย มีการทำความสะอาดบ้าน เป็นพาชนะใหม่ในครัว นำรูปเคารพของ พระศรี พระคเณศ พระสรัสวดี ที่ทำด้วยดินปั้นมาบูชา ในตอนค่ำมีการจุดประทีปเพื่อบูชาพระยมด้วย และมีการจุดพลุดอกไม้ไฟกันมากเป็นพิเศษในตอนกลางคืน

8Madras ในที่นี้ให้อ่านว่า มัท-ดราส

9 Pongal เป็นเทศกาลฉลองบูชาวัวซึ่งถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์ของทางอินเดียใต้

10สามล้อ ของ อินเดีย

11 ยุ่น ย่อมาจาก ญี่ปุ่น

12Holi ที่นี้อ่านว่า โฮลี เป็นพิธีฉลองคล้ายวันสงกานต์ของไทย แต่ใช้สีฝุ่นต่างแทน ในอินเดีย ในสถาบันฮินดีสันสถานในอาครา ในกลางคืนมีงานเลี้ยง และเต้นรำแบบรำวง ของพวกที่มาจากทางรัฐอัสสัม ของอินเดีย ได้แต่พวก ชาวนาคแลนด์ ชาวมณีปูร (มณีปุระ) ฯลฯ

13ชาว Manipur Nagaland and Assam of India

14 sleeper class เป็นตั๋วรถไฟที่ปลอดภัยสำหรับเดินทางคนเดียวในระยะทางไกลๆ

15เยาวะ มาจาก ยุวะ

16 I way- internet

17 Hotmail , yahoomail, Gmail/.com

18 โธตี ผ้านุ่งของชายชาวอินเดีย คล้ายจงกระเบน แต่เป็นสีขาว

19 เมือง Vijayawada

20เมือง Nagpur [นาคปุระ] แต่ที่นี้ออกเสียงว่า “นาคปู้ร” อย่างแขก

21 ขนมชนิดหนึ่ง เหมือน นมหวานใส่ข้าวเหนียว

22 โรตีทอดสอดใสอย่างเล็ก

23 น้ำชานมร้อน แบบอินเดีย

24 เมือง Bhopal

25 เมือง Jhansi

26 มหากษัตริย์ผู้สร้าง “ทัชมาฮัล”

27 สุสานทัชมาฮัล สิ่งก่อสร้างที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ของโลกที่เกี่ยวกับความรัก

28 เมืองหลวงของอินเดีย

29 สถานีรถไฟ Agra Centt. แต่คนอินเดียบางคนออกเสียงผมฟังคล้ายว่า “อาคราแก๊นท์”

30 เมือง Mathura

31 อากรา ในที่นี้ให้ออกเสียง “อาคกร้า” เพื่อการอ่านสะเหนาะ

32 ไภยา แปลว่า พี่ชาย

33 สถานทูตไทยใน “ นิวเดลหี” อยู่ในเขตชานเมืองเรียกว่า “จานักยะปุรี”

34 Synopsis

35 นักงาน มาจาก พนักงาน เป็นการสร้างคำใช้เอง เข้าใจเอง เพื่อใช้ในงานประพันธ์ อันเป็นสิทธิ์อันชอบของผู้แต่ง

36 ร้านของชำ ที่คนขายชาวอินเดียชื่อ อาเจ ซื้อของทอนเงินไม่ค่อยผิด จึงไปซื้อของประจำ อยู่นอกสถาบัน แต่ถ้าร้านน้ำชานมร้อน แบบอินเดียนั้น มักไปนั่งที่ร้านในของสถาบัน ฮินดีสํสถาน มากกว่า

37 ปุลิส คือ Police, ยาตรา คือ Yatra หรือ YatraYatra หมายถึง การท่องเทียว ในที่นี้ ปุลิสยาตรา ต้องการหมายถึง tourist police office ซึ่งเป็นสถานที่ไปต่อวีซ่าของชาวต่างชาติในอินเดียบริเวณถนน ปุลิสลาย หรือ ปุลิสแลนด์

38 ปุลิศ แปลว่าตำรวจ + ฆัร แปลว่า บ้าน ในที่นี้ต้องการหมายถึง police station ที่เรียกว่า pulis thaanaa ต่างๆและบ้านพักตำรวจบริเวณ ปุลิสแลนด์ หรือที่เรียกว่า ปุลิสลาย (Pulis line) เลยตลาด ราชกีมันฑี ข้ามสะพานไปตรงสี่แยกตรงป้อมตำรวจ เลี้ยวเข้าตรอกไปทางขวาตรงไปจอสี่แยก เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 800 เมตร ไม่ได้หมายถึง Police Box

39 หมายถึง ฮินดีสํสถาน แต่ หดเสียงตามเข้าใจ เพื่อให้ได้จำนวนพยางค์ที่พอเหมาะกับคณะ

40 ดาฮี (นมเปรี้ยวอย่างข้นเป็นโยกิต) ใส่น้ำตาลหรือเกลือเรียกว่า “ลัสซี”

41 กระเป๋า

42 สนามบินไทย

นานากลอนไทย ๒








นิราศภูเขาทอง 

เริ่มต้นเล่าการเดินทางทางเรือจาก วัดราชบุรณะ กรุงเทพฯ จุดหมายปลายทางคือเจดีย์ภูเขาทองที่พระนครศรีอยุธยา  สถานที่ที่เดินทางผ่านคือ ๑) พระบรมมหาราชวัง ๒) วัดประโคนปัก ๓)โรงเหล้า ๔) บางจาก ๕) บางพลู ๖) บางพลัด ๗) บางโพ ๘) บ้านญวน ๙) วัดเขมา ๑๐)ตลาดแก้ว ๑๑) ตลาดขวัญ ๑๒) บางธรณี ๑๓) เกาะเกร็ด ๑๔) บางพูด ๑๕) บ้านใหม่ ๑๖) บางเดื่อ ๑๗) บางหลวง ๑๘) บ้านงิ้ว เมื่อเข้าเขตพระนครศรีอยุธยา ผ่านหน้า ๑๙) จวนเจ้าเมือง ๒๐) วัดหน้าพระเมรุ แล้วจึงเดินทางถึง ๒๑) เจดีย์ภูเขาทอง ส่วนขากลับกล่าวถึง ๒๒) วัดอรุณราชวรารามเท่านั้น

 ....... 

ที่มาภาพ: https://www.thinglink.com/scene/655418971205402624นิราศ



กลอนดอกสร้อย 

เป็นกลอนที่เเต่งขึ้นเพื่อขับร้อง 

กลอนดอกสร้อย คล้ายกลอนแปด จะมี ๗-๙ พยางค์ 

ยกเว้นวรรคสดับที่เป็นต้นเรื่อง จะมี ๔ พยางค์ และพยางค์ที่ ๒ จะมีคำว่า เอ๋ย 

ส่วนวรรคส่งบทสุดท้ายของเรื่อง

หรือตอนซึ่งมักจะมีแค่สองบทจะลงท้ายด้วยคำว่า เอย เสมอ


นอกจากนี้กลอนดอกสร้อยยังแต่งเป็นตอน ๆ ที่มีเนื้อเรื่องสัมพันธ์กันได้เช่นเรื่อง "รำพึงในป่าช้า"


กลอนลิเก

มีจำนวนพยางค์ไม่แน่นอนตั้งแต่ ๔- ๑๒ พยางค์ตามความเหมาะสม

แต่ที่นิยมกันมากคือ ๕ - ๖ - ๗ - ๘ พยางค์

กลอนลิเกแบบที่ ๑
กลอนลิเกแบบที่ ๒


กลอนลิเกแบบที่ ๓ 

ราชนิเกลิง (ออกเสียง ราด-นิ-เกลิง) หรือ รานิเกลิง ถึงชื่อจะไม่คุ้นหูคนทั่วไป แต่ถ้าได้ยินเมื่อไหร่คนไทยทั้งประเทศจะรู้จักอย่างแน่นอน เพราะมันก็คือกลอนลิเก หรือเพลงลิเก ที่ถูกเอามาใช้จนคุ้นหู เตร๊ง เตรง เตร่ง เตร๊ง.... นั่นเอง 

รานิเกลิงถูกนำเอามาใช้โดยทั่วไปในเพลงลูกทุ่งตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม เพราะเป็นศิลปะแขนงที่อยู่ใกล้ชิดกันมาก และเพลงลูกทุ่งก็วิวัฒนาการมาจากลิเกด้วยส่วนหนึ่ง ****

เราจะได้ยิน หรือได้เห็นการใช้งานรานิเกลิงได้ในการแสดงลิเก โดยเฉพาะท่อนขึ้นเปิดเรื่อง เปิดตัวพระเอกนางเอก ที่จะชัดที่สุด ส่วนท่อนร้องท่อนอื่นอาจจะมีการดัดแปลงทำนองไปบ้าง 


ที่มา: 
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=mister-gray&month=24-07-2014&group=9&gblog=36


กลอนลิเกแบบที่ ๔ (บทเจรจา)

คล้ายกับกาพย์ฉบังสองบท บวกกลอน ๖ แต่ไม่ใช่
กลอนหัวเดียว 

กลอนหัวเดียวเป็นกลอนชาวบ้านเช่นเดียวกับกลอนสังขลิก ลักณะเด่นอยู่ที่การส่งสัมผัสท้ายบาทเป็นเสียงเดียวกันทุกบาท จึงได้ชื่อว่า กลอนหัวเดียว

กลอนหัวเดียวมักพบใน บทเพลงกล่อมเด็ก   และบทเพลงปฏิพากย์ (เจรจาโต้ตอบ) เช่น เพลงเรือ ลำตัด เพลงอีแซว เพลงฉ่อย เป็นต้น

กลอนหัวเดียว บังคับบาทละ ๒ วรรค จำนวนคำในวรรคมีตั้งแต่ ๔ - ๑๐ คำ ถ้าจำนวนคำในวรรคมากอาจเพิ่มสัมผัสกลางวรรคอีกแห่งหนึ่งเพื่อให้เป็นจังหวะเวลาร้อง บทหนึ่งแต่งกี่บาทก็ได้ไม่จำกัด

บังคับสัมผัส ๒ แห่ง คือ สัมผัสระหว่างวรรคกับสัมผัสท้ายบาท สัมผัสท้ายบาทเป็นเสียงเดียวกันทุกบาทตลอดบท ถ้าส่งสัมผัสเสียง อา เรียกว่ากลอนลา ส่งสัมผัสเสียง อี เรียกว่ากลอนลี ส่งสัมผัสเสียง ไอ เรียกว่ากลอนไล

เพลงเกี่ยวข้าว

พัฒนามาจากกลอนหัวเดียว

แต่มีสัมผัสบังคับและจำนวนพยางค์เลื่อนไหลได้ ตามลักษณะของกลอนพื้นบ้าน

บทที่นำมาเรียกบทปลอบ นอกจากนี้ยังมีบทไหว้ครู และบทเจรจา ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่นิยมใช้กลอนหัวเดียว

ต่างจากเพลงชนิดอื่นเช่น กลอนขอทานที่จะเป็นกลอนหัวเดียวในบทเพลงขอทานเท่านั้น 

แต่บทไหว้ครู บทแอ่วลา บางครั้งเป็นคำประพันธ์ต่างชนิดกัน และไม่แต่งด้วยกลอนหัวเดียว








วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ตัวอย่างกลอนเจ็ดบรรยายภาพ หรือภาพยนตร์

Picture: satyr play lyre
Refer to: https://frameofnature.wordpress.com/2010/11/25/satyrs/

๐ คนธรรวี/วีณา/บรรเลง..........เพลงรับ /รำอัปสร/สวรรค์
เทพคน/- ธรรพ์ขับ/คีตาสรรค์....เชิงชั้น/เทพทิพย์/ดุริยางค์ ฯ|

๐ เมื่อนั้น/มหาเทพ/ไกลาส.....ละอาสน์/สำแดง/แสงสว่าง
แลสตี/ลาสยะ/สะอาง.............คู่ปาง/ศิวะ/ตาณฑะวัม ฯ|

๐ บันเทิง/ ทิพย์ศิลป์/ศิวะโลก......อโศก/ศิวะนาฏ/เลิศล้ำ
เรียกว่า/ "อานันทะ/ โยคัม"..........คือรำ/ รู้สติ/ สุขเอย ฯ|~

(เอ็ม. รุทรกุล)

ถอดคำประพันธ์: เมื่อนางคนธรรพ์บรรเลงเพลงขึ้น นางอัปสรในสวรรค์ก็ร่ายรำตาม พวกเทวดาคนธรรพ์ทั้งหลายก็ร่วมกันขับร้องเพลงสวรรค์ชั้นสูงประกอบกับการแสดงของวงดนตรีที่เป็นทิพย์
ในตอนนั้นเองพระศิวะมหาเทพแห่งเขาไกลาสก็ลุกจากที่นั่งแสดงรัศมีที่สว่าง พร้อมกับนางปารวตี (สตี) ที่แสดงการเต้นรำลาสยะลีลาที่สวยงาม คู่กับการเต้นรำ "ตาณฑวะ" ลีลาของพระศิวะ

  ลีลานาฏกรรมของพระศิวะนั้นดียิ่งทำให้ปราศจากความเศร้า และสร้างความบันเทิงด้วยศิลปะอันเป็นทิพย์ของพระเจ้าให้กับสวรรค์ของพระศิวะ (ศิวะโลก /ไกลาส) ที่เรียกว่า "อานันทะโยคะ" หมายถึงการเต้นรำที่มีสติสมาธิ จนเข้าถึงความปิติสุขในใจ


Picture: Shiva and Parvati danceing
Refer to: http://danvantritemple.org/homam/shiva-shakti%20Homam.html

♩♪♫♬♭♮♯♩♪♫♬♭♮♯♩♪♫♬♭♮♯♩


 ปล. ที่เห็นเป็นบุรุษมีเขาอยู่ เรียกว่า คณะ (เทพ) ซึ่งเป็นความเชื่อที่ซ้อนทำกับพวกคนธรรพ์ และ Satyr ของกรีก อาจารย์ทางประวัติศาสตร์ศิลป์มักอธิบายตามตำราอังกฤษว่า เป็นอสูรร่างแคะ ซึ่งอาจจะแปลมาจากคำว่า Demon ในภาษาอังกฤษซึ่งความจริงคำนี้น่าจะแปลเป็นไทยว่า อมนุษย์มากกว่า (ในบางครั้ง) เพราะ "อสูร"คือศัตรูของเทวดา และ "คณะ" (เทพ) ตามตำนานปุราณว่าเดิมเป็นญาติกับเทพโคนนทิ เป็นพวกพราหมณ์มาก่อนเมื่อพราหมณ์หรือลูกฤาษีศิลาท "นนทิ" บำเพ็ญตนจนพระศิวะโปรดให้ขึ้นมาบนสวรรค์เป็นเทพพาหนะ ก็อนุญาตให้เหล่าญาติเทพโคนนท์ที่เป็นพราหมณ์ขึ้นมาเป็นคณะ (เทพ) ด้วย โดยมีเทพโคนนทิเป็นหัวหน้า แต่ต่อมาเมื่อพระคเณศเปลี่ยนเป็นเศียรช้างแล้ว พระศิวะก็มอบให้พระคเณศเป็นหัวหน้าเหล่าคณะ (เทพ) อีกทีหนึ่งจึ่งได้ชื่อว่า คณปติ, คเณศ และ คเณศวร (ผู้เป็นคเณศวร ยังได้แก่ พระอุมา ขันธกุมาร เทพโคนนทิ และสาวกพระศิวะอื่น ๆ ร่วมทั้งสิ้นแปดตนด้วย) ดั้งนั้นคณะคือเทพรับใช้ในศิวะโลก ในการทำพิธีสวดบูชาพระศิวะ คณะจึงทำการเล่นดนตรี และนางอัปสรที่เป็นทั้งเพื่อนและบริวารพระอุมาจะฟ้อนรำ ไปพร้อมกับการขับร้องของเทพต่าง ๆ ในเขาไกลาสเพื่อบูชาและปลุกพระศิวะให้ตื่นจากการนั่งสมาธิและภาวะนิรคุณ ชึ่งไม่ปรากฏรูป "


ท่าศิวนาฏราชทั้งหมดกว่าร้อยแปดท่ารำ พระอุมาเทวี หรือปารวตีสามารถเต้นตามพระศิวะได้หมดทุกท่ายกเว้นท่าที่เอาเท้าเก็บต่างหู เพราะพระอุมาเทวี หรือปางเจ้าแม่ศิวกามี ที่ยืนอยู่ข้างศิวนาฏราชตนนั้น ไม่เต้นตามเพราะพระนางมองว่าไม่สุภาพ เพราะท่านี้ต้องยกขาชี้ฟ้าข้างหนึ่ง (อาจจะทำให้โยนีโผล่ สมัยนั้นอาจไม่มี กกน. ซึ่งท่านี้เป็นท่าเดียวกับท่าตรีวิกรม หรือท่าเหยียบสามโลกของพระนารายณ์ ...อาจารย์แขกท่านหนึ่งเล่าให้ฟัง)



 อานันทะตาณฑวะ คือจักรวาลแห่งการเต้นรำของพระศิวะที่เป็นการสร้างและทำลายโลกอันเป็นวัฏสงสาร ในความเชื่อของชาวฮินดู ตามสัญลักษณะต่าง ๆ ในเทวรูปพระศิวปาง "ศิวนาฏราช" 

ซึ่ง "ตาณฑวะ" คือศิลปะการเต้นรำของพระศิวะ หรือท่าทางการเต้นรำของบุรุษเพศที่แข็งแรง 
ส่วน " ลาสยะ" คือศิลปะการเต้นรำของศักติ หรือเจ้าแม่ปารวตี หรือท่าทางลีลาการเต้นรำที่อ่อนช้อยสวยงามของสตรี

ซึ่งผู้ที่เข้าถึงความสุขที่เกิดจากการเต้นรำที่มีระเบียบแบบแผน ตามจังหวะและเสียงเพลง ด้วยใจที่สงบ มีปิติ และมีสติ เช่นเดียวกับการทำสมาธิในระหว่างเต้นรำ ชาวฮินดูผู้เป็นนักเต้นชั้นครูเรียกว่า "อานันทะโยคะ"


Picture: Trivikarma (Vamana ท่านารายณ์เหยียบสามโลก)
Refer to: https://www.pinterest.com/pin/381891243376876765/

Notes: 1) คนธรรวี มาจากคำ คนฺธรฺวี แปลว่า นางคนธรรพ์
    ซึ่งตามตำนานมักกล่าวคนธรรพ์ satyr ? ส่วนใหญ่ที่เป็นชายมักสมาคมและแต่งงานกับนางอัปสร nymph ? ในสวรรค์เพราะนางอุรวศี ก็ให้ท้าวปุรุรวัสชายคนรักพยายามเข้าเป็นพวกคนธรรพ์เพื่อจะได้อยู่กินกับนาง แต่ในบางตำนานก็กล่าวถึงเมืองของพวกคนธรรพ์ดังนั้นก็ต้องมีคนธรรพ์ผู้หญิงหรือคนธรรวีด้วย แต่น่าจะอยู่เย้าเฝ้ากับเรือนจึงไม่ค่อยปรากฏบทบาทในวรรณคดีสันสกฤตมากนัก แต่เชื่อว่า คนธรรพ์ของอินเดียน่าเทียบได้กับ Satyr และนางอัปสรคือ Nymph ในตำนานกรีก ที่เมื่อแต่งงานกัน ลูกน่าจะไปอยู่ทางพ่อหมด เพราะนางอัปสร ไม่แก่ไม่ตาย เมื่อคลอดลูกแล้วกลับเป็นสาวอีกครั้งด้วยพรของพระเจ้าก็ไปหาสามีใหม่..ไม่ดูแลลูก (ยกเว้นบางตนที่เป็นมเหสีของกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่) นางอัปสรจึงน่าจะมีจำนวนเท่าเดิมไม่เพิ่มไม่ลด ในขณะที่พวกคนธรรพ์รบกัน และฆ่ากันตายได้ เพื่อแย่งนารีผลกับอมนุษย์พวกอื่นในป่าหิมพานต์ แย่งอำนาจกับพวกมนุษย์ชนเผ่าอื่น ๆ (อย่างในเรื่องรามเกียรติ์) จึงต้องเพิ่มประชากรเพื่อให้ดำรงอยู่
      2) สตี คือ
               2.1) ชื่อธิดาของท้าวทักษะ หรือเทพทักษะ หนึ่งในเทพ 33 ตน เสนาบดีของพระอินทร์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเคยเป็นใหญ่ปกครองทั้งสามโลก เพราะทักษะประชาบดี เป็นบุตรของพระพรหม ชอบทำยัญชพิธีเพื่อเพิ่มอำนาจให้ตนเองและเหล่าเทวดาทั้งหลายที่เป็นลูกเขยของตน เนื่องจากท้าวทักษะไม่เคารพพ่อคือพระพรหมจึงถูกสาปให้มีแต่ลูกสาว ซึ่งลูกสาวพระทักษะทั้งหมดก็แต่งงานกับพวกเทวดาที่สำคัญของฮินดูเกือบทั้งหมด ทำให้ท้าวทักษะมีอหังการมากคิดว่าตนยิ่งใหญ่ไม่เคารพดูถูกพระศิวะ เพราะพระศิวะมีพฤติกรรมอย่างฤาษีน่ากลัว คือชอบอยู่ในป่าช้า เอากระโหลกแขนคอ จึงได้ไม่เชิญพระศิวะมาในพิธียัญชะที่ตนเชิญเทวดาทั้งสวรรค์มา ทำให้นางสตีโกรธกระโดดเข้ากองไฟฆ่าตัวตาย พระศิวะจึงอวตารเป็น "วีรภัทระ" บุกเข้ามาทำลายพิธียัญชะ แล้วตัดหัวท้าวทักษะประชาบดี เทพแห่งปัญญาเปลี่ยนกับเศียรแพะที่ใช้ฆ่าบูชายัญในพิธีนั้น เพื่อประกาศความโง่ของท้าวทักษะ จากนั้นก็อุ้มร่างนางสตีที่ตายแล้ววิ่งร้องไห้อย่างน่ากลัวไปทั่วจักรวาล จนพระนารายณ์ต้องใช้จักรทำลายศพนางสตี เป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ ตกไปบนโลก พระศิวะจึงได้สติกลับไปบำเพ็ญสมาธิถือพรหมจรรย์อยู่ตนเดียวไม่ยุ่งกับใคร ส่วนวิญญาณนางสตีก็ไปเกิดใหม่เป็นลูกสาวท้าวหิมวัตชื่อว่า "ปารวตี" ต่อมาได้กลายเป็นชายาของพระศิวะอีกครั้งด้วยความช่วยเหลือของกามเทพที่ได้สละชีวิตด้วยความโกรธของพระศิวะ เพราะยิงศรแห่งความรักไปปักอกพระศิวะ พระศิวะจึงใช้เนตรที่สามเผากามเทพทิ้งไป แต่ภาพหลังก็รับนางปารวตีมาเป็นชายาเพราะเห็นใจการที่นางเฝ้าบูชาศิวลิงค์ของพระองค์ด้วยความภักดี นางปารวตีจึงได้สมญานามว่า "อุมาเทวี" มาตาแห่งโลกและอวตารมาเป็น "โยนี" ฐานของศิวลิงค์ ภายหลังนางรติชายากามเทพ และอุมาเทวี จึงวิงวอนพระศิวะให้ชุบชีวิตกามเทพ แต่ศิวะกลับให้พรว่ากามเทพจะไปเกิดเป็นลูกชายพระกฤษณะ อวตารของพระนารายณ์ ชื่อ "ปรัทยุมนะ" พ่อของพระอนิรุทธ์แทน
                   2.2) ชื่อพิธีกรรมที่ภรรยาชาวฮินดู จะต้องฆ่าหรือถูกฆ่าตามสามีที่ตายไป เพื่อแสดงความซื่อสัตย์ต่อสามี เช่นนางสตีเทวี อดีตชาติชายาพระศิวะ หรือตามไปรับใช้สามี (แบบคติจีนก่อนยุคจิ๋นซี) ในสมัยโบราณของอินเดีย ซึ่งทางชวามลายู (อินโดนีเซีย มาเลเซีย) เรียกว่าพิธีแบหลา (นอนแบหลา นอนกางมือกางเท้า ให้เขาฆ่า? แต่ในไทยหมายถึงนอนกางมือกางเท้าเท่านั้น) ซึ่งถ้าสตรีใดไม่อยากฆ่าตัวตายตามสามีไป ต้องหนีออกจากบ้านสามีก่อนถูกจับฆ่า หนีไปอยู่เมืองแม่ม่ายนุ่งขาวห่มขาวห้ามแต่งงานใหม่ถือพรหมจรรย์ไปตลอดชีวิต ซึ่งในกรณีที่มีลูกอ่อนต้องเลี้ยงดู และสามีมีภรรยาหลายคน ก็ให้เลือกหนึ่งในนั้นฆ่าตัวตาย หรือถูกเผาพร้อมศพสามีไป ส่วนภรรยาที่เหลือก็นุ่งขาวถือพรหมจรรย์ห้ามแต่งงานใหม่ และอยู่เลี้ยงลูกต่อไปได้เช่น นางกุนตี ชายาท้าวปาณฑุพ่อของพวกปาณฑพทั้งห้า (ยุธิษฐิระ ภีมะ อรชุน นกุล และสหเทพ) ในเรื่องมหาภารตยุทธ์
               3) ในภาษาทมิฬ นิยมใช้  /ไอ/ เป็นวิภัตติ suffix เอกพจน์เพศหญิง เช่น สีตา เป็น นางสีไต (นางสีดา)  ถ้าเป็นเอกพจน์ เพศชาย จะใช้ /น/ เช่น รามะ กลายเป็น อิรามัน (อ่าน รา-มัน ชื่อพระรามภาษาทมิฬ /อิ/ ไม่ออกเสียง ตามกฎภาษาทมิฬ)  ถ้าเป็นพหูพจน์เชิงยกย่องไม่ระบุเพศจะใช้ /ร/ เช่น เทวะ ในสันสกฤตกลายเป็น เทวัร (เท - วัร : ท่านเทวดา) ส่วน /ม/ ลงท้ายคำนามเอกพจน์ที่ไม่ระบุเพศ ตาณฑวะ กลายเป็น ตาณฑวัม (อ่าน ตาน-ดะ-วัม) และโยคะ กลายเป็นโยคัม (อ่าน โย-คัม) ในภาษาทมิฬ
                4) พระนารท ฤาษีได้สมญานามว่า คนฺธรฺวราชะ (คนธรรพ์ราชัน) หมายถึง ราชาของพวกคนธรรพ์ ตามความสามารถในทางดนตรี เป็นเรียกเชิงยกย่องว่ามีความสามารถทางดนตรีเป็นเลิศ (ปัจจุบันยังใช่เป็นคำยกย่องนักดนตรีที่เก่งในรัฐทมิฬนาฑู) เพราะถือว่าการเล่นดนตรีและการเต้นรำเป็น คนฺธรฺวศาสฺตฺระ (คนธรรพ์ศาสตร์ : ความรู้ของพวกคนธรรพ์) แต่เทพฤาษีไม่ใช่เจ้าเมืองของพวกคนธรรพ์

ตัวอย่างกลอนหกบรรยายภาพ



Picture: Vidyadhara
Refer to : http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3459.0

๐ วิทยาธรอ่อนรัก.............หวังพักภิรมย์นรีผล
กลิ่นกามาพาชื่นชน..........สุนนท์สาวสกาวไพร ฯ|
๐ งามเพศนางเจ็ดราตรี....แล้วปี้ป่นเป็นผงไซร้
บางรู้อนิจจาใจ.................บางใฝ่รักยิ่งชิงนาง ฯ|
○ เพราะโลกียสุขี.............โลกมีโมหันไม่ร้าง
นรีผลกลหลงทาง............ลืมว่างจิตสิทธาเอย ฯ|~

(By เอ็ม. รุทรกุล)

ถอดคำประพันธ์: วิทยาธรผู้ยังอ่อนต่อโลกและความรัก ต้องการมีสัมพันธ์สวาทกับนางมักกะลีผล เพราะความปรารถนาในกามเป็นเหมือนกลิ่นที่ทำให้ชายชื่นชมยินดีสตรีคือนางมักกะลีผลทั้งหลายที่ผิวขาวงามในป่า (แห่งตัณหา) ความงามของนางจะอยู่เพียงเจ็ดวัน (กามสุขภูมิเจ็ดชั้น) หลังจากนั้นนางก็จะสลายกลายเป็นผงหายไป (อรูปภูมิ) ทำให้บางชายบางคนรู้ถึงความไม่เที่ยงแท้ในความรัก แต่ชายบางคนยังติดพันในความรักยิ่งขึ้น จึงต่อสู้ดิ้นรนแย่งชิงสตรีงามกันเพื่อความสุขทางโลก ทำให้โมหะหรือความลุ่มหลงในกิเลส และตัณหาไม่เคยหมดไปจากโลกใบนี้ นางมักกะลีผลเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความจริงที่เป็นอนัตตา กับมายาคติเกี่ยวกับความรักและกามตัณหา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ววิทยาธรหรือชายทั้งหลายหลงลืมและว่างเว้นการฝึกจิตแบบนักบวช (เพื่อความสุขทางโลกุตรธรรม ความสุขเหนือโลก โมกษะ หรือนิพพาน)

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ตัวอย่างกลอนห้าบรรยายภาพ หรือนิทาน

เหตุนาคและครุฑเลิกผูกเวรกัน สำนวนบาลี (ชาดกนิบาต ปัณฑรกชาดก)
อนุภาคเรื่องชีเปลือยจากนิทานชาดก

Picture: Gruda Vs Naga
Refer to: http://www.dmc.tv/page_print.php?p=นิทานชาดก/นิทานชาดก-ปัณฑรกชาดก.html

ตัวอย่างกลอน ๕ บรรยายภาพ หรือเล่านิทาน

๐ ครุฑยุทธ์\ นาคในน้ำ.......นาคปล้ำ\ ลากลงม้วย
นาคยุทธ์ \ครุฑริมห้วย...........ครุฑฉวย\ โฉบไปกิน ฯ|
๐ ชาดก\ เล่าดังนี้..................เฒ่าชี \ - เปลือยปล้อนลิ้น
ลวงหลอก\ ถามนาคิน...........กลืนหิน\ ดึงหางดี ฯ|
๐ เฒ่าบอก\ ครุฑยุทธ์นาค.... ครุฑลาก \ไม่รอดหนี
คราวนาค\ ครุฑคืนดี..............เฒ่าผี\ ผิดม้วยเอย ฯ| ~

(By เอ็ม. รุทรกุล)

ถอดคำประพันธ์: เมื่อพญาครุฑต่อสู้กับพญานาคในน้ำ ก็ถูกพญานาคลากให้จมน้ำตาย เมื่อพญานาคต่อสู่กับพญานาคบนบกอยู่ริมน้ำ ก็ถูกพญาครุฑจับไปกิน

มีเรื่องราวในชาดกเล่าว่ามีชีเปลือยเฒ่าคนหนึ่งหลอกถามความลับจากพญานาคว่า "พวกนาคจะกลืนหินไว้ถ้าพญาครุฑจับข้างหางจึงจะจับพวกนาคได้" (เพราะจับข้างหางนาคจะคายหินออก ถ้าจับหัวนาคจะใช้น้ำหนักหินจับครุฑถ่วงน้ำตาย) แล้วชีเปลือยก็บอกความลับครุฑ คราวนี้ครุฑสู้กับนาคจับนาคได้ไม่มีตัวใดรอดหนีไปได้ แต่ต่อมานาคกับครุฑเห็นใจเลือกผูกเวรเป็นมิตรกัน ชีเปลือยจึงตายเป็นผีเพราะความผิดของตน (มุ่งร้ายต่อพญานาคที่เป็นมิตร ขายเพื่อน เอาความลับเพื่อนไปบอกผู้อื่น)



Picture: eagle vs cobra
Refer to: https://bharathgyanblog.wordpress.com/2017/07/26/naga-panchami-garuda-panchami/

⭐🌙⭐🌙⭐🌙⭐🌙⭐🌙⭐🌙⭐🌙⭐


Picture: Heavenly Beneath

๐ ดาวดาษแดนสวรรค์.....พรายพรรณรายสี
สุดส่องสว่างดี.................ราตรีรุ้งรุ่งเรือง ฯ|
๐ ดาราวรรษาหลั่ง.............มลังแลเมลือง 
พิศทิพย์พิมานเมือง..........นองเนืองพิมลเอย ฯ|

(By เอ็ม. รุทรกุล)

ถอดคำประพันธ์: ดวงดาวกระจายอยู่มากมายบนท้องฟ้า มีสีสันต์แพรวพรายส่องแสงสว่างดี ทำให้ยามค่ำคืนกลายเป็นสีรุ้งสดใส เหมือนดาวทั้งหลายที่สุกสดใสได้ตกเป็นฝนลงมาในท้องฟ้าซึ่งก็คือเมืองสวรรค์ที่เป็นทิพย์ และเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์

ตัวอย่างกลอนแปดบรรยายภาพ

Picture: สองกินรี
Refer to: https://sites.google.com/site/himphantutopia/

๐ ชี้ชมนวลนิ่มน้องกินรี.......................งามสระศรีเพราะเหล่าสาวสวรรค์
หนึ่งชมนกชมนางพักตร์เพ็ญจันทร์......สองเฉิดฉันโฉมงามตามเก็บบัว ฯ|

(By เอ็ม. รุทรกุล)

ถอดคำประพันธ์: ชี้ให้ดูนางกินรีรุ่นน้องที่ดูมีมีผิวนวลขาวเนื้อนิ่ม สระน้ำที่สวยงามมีมงคลดีนี้ยอมสวยงามยิ่งขึ้นเพราะเหล่านางกินรีผู้เหมือนนางฟ้าทั้งสองนาง คือคนหนึ่งมีหน้าอิ่มงามเหมือนพระจันทร์กำลังเล่นอยู่กับนก ส่วนคนที่สองก็เป็นสาวสวยมากกำลังเก็บดอกบัวอยู่


Picture : สามกินรี
Refer to: https://www.cafr.ebay.ca/itm/Thai-Drawings-POSTER-23-x34-Women-Literature-Kinnaree-Manora-Painting-Siam-3-/252218661575

๐ ชี้ชมนวลนิ่มน้องกินรี.....................หนึ่งสดศรีโสภาดังสาวสวรรค์
สองเอมอรอรชรพักตร์เพียงจันทร์.....สามเฉิดฉันทอดนิ่งอิงศิลา ฯ|

(By เอ็ม. รุทรกุล)

ถอดคำประพันธ์: ชี้ให้ดูนางกินรีรุ่นน้องที่ดูมีมีผิวนวลขาวเนื้อนิ่ม กินรีตนที่หนึ่งมีความสดสาว (สดศรี) งามดังนางฟ้าในสวรรค์ กินรีตนที่สองมีรูปร่างดี (อรชร) และใบหน้างามเหมือนพระจันทร์ กินรีตนที่สามก็งามพริ้งเป็นสง่า (เฉิดฉัน) นั่งอิงพิงก้อนหินอยู่